“สรรเพชญ”ฉะรัฐอย่าสร้างความสับสนให้เกษตรกร ระหว่าง โฉนดที่ดิน กับ โฉนด สปก.

20 ม.ค. 2567 | 07:56 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ม.ค. 2567 | 08:12 น.

“สรรเพชญ” ส.ส.สงขลา ฉะรัฐอย่าสร้างความสับสนให้เกษตรกร ระหว่าง “โฉนดที่ดิน” กับ “โฉนด สปก.” แนะรัฐบาลเร่งทำความเข้าใจเพื่อป้องกันความสับสน และไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าถูกหลอกให้หลงเข้าใจผิด

KEY

POINTS

                         
“สรรเพชญ” ส.ส.สงขลา ฉะรัฐอย่าสร้างความสับสนให้เกษตรกร ระหว่าง “โฉนดที่ดิน” กับ “โฉนด สปก.” แนะรัฐบาลเร่งทำความเข้าใจเพื่อป้องกันความสับสน และไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าถูกหลอกให้หลงเข้าใจผิด

วันนี้ (20 ม.ค. 67) นายสรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา ได้ให้ความเห็นต่อกรณีที่มีการแจกโฉนด สปก. ว่า แม้นโยบายการเปลี่ยนแปลง ส.ป.ก. 4-01 เป็นชื่อ “โฉนดเพื่อการเกษตร” จะเป็นการยกระดับของ ส.ป.ก. 4-01 แต่ในภาพรวมเห็นว่าจะเป็นนโยบายที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำกินในเขตปฏิรูปที่ดิน ในประเด็นของสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการถือครองหนังสืออนุญาต ส.ป.ก. 4-01  

 นายสรรเพชญ ขยายความต่อว่า ตามกฎหมายประมวลที่ดิน คำว่า “โฉนด” คือ หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ในที่ดินที่รัฐมอบไว้ให้เอกชนหรือบุคคลทั่วไป ดังนั้น ในทางกฎหมาย และความเข้าใจทั่วไปของสังคมไทย ใครมี “โฉนดที่ดิน” ย่อมหมายความว่า ผู้นั้น เป็นเจ้าของที่ดินโดยชอบธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถซื้อขาย โอน จำนอง ค้ำประกัน ฯลฯ ได้ตามความประสงค์

 ขณะเดียวกัน “โฉนดเพื่อการเกษตร” หรือ “ส.ป.ก. 4-01” เดิมนั้น เป็นเพียงการยกระดับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมให้เกษตรกร แต่กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของรัฐ เกษตรกรมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น หาใช่เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ 

ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ประเด็นของ “กรรมสิทธิ์” หรือ ความเป็นเจ้าของนั่นเอง  รัฐบาลจะใช้ชื่อเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่  แต่ต้องไม่ลืมว่า การรับรู้ทั่วไปของสังคม และตามกฎหมายประมวลที่ดิน คำว่า “โฉนด” มันบ่งบอกถึงสถานะความเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ของผู้นั้น 

                     สรรเพชญ บุญญามณี ส.ส.สงขลา

“เรามีโฉนดเท่ากับว่าเราสามารถขาย โอน จำนอง ค้ำประกัน ได้ตามความต้องการตราบเท่าที่เรายังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ๆ  แต่นโยบายรัฐบาลที่เปลี่ยน หรือ ยกระดับ ส.ป.ก. 4-01 ไปสู่ “โฉนดเพื่อการเกษตร” ซึ่งเกษตรกรที่ถือครอง ไม่ได้มีความเป็นเจ้าของ หรือมีกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ อาจนำไปสู่การสร้างความสับสน ความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชน 

ดังนั้น ผมเสนอว่าให้รัฐบาลเร่งทำความเข้าใจนโยบายดังกล่าวเสียใหม่เพื่อป้องกันความสับสน และไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าถูกหลอกให้หลงเข้าใจผิด” นายสรรเพชญ กล่าว

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ยังได้กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับสิทธิในการใช้ประโยชน์จากโฉนดเพื่อการเกษตรว่า เมื่อมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มีการโอน เช่า ได้แล้ว ก็เกรงว่าสุดท้ายโฉนดเพื่อการเกษตรจะอยู่ในกลุ่มของนายทุน โดยการสวมสิทธิให้เกษตรกรตัวจริงถือครอง

แต่ผู้ได้รับประโยชน์จากที่ดินนั้น กลับไม่ใช่เกษตรกร ซึ่งหมายถึงวัตถุประสงค์ของโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตรได้เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นเรื่องทางธุรกิจของกลุ่มทุนเสีย ดังนั้น กระบวนการต่างๆ หลังจากนี้ของรัฐบาลจะต้องเข้มงวด และรัดกุม

“เกรงว่าการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้มีการโอน เช่า โฉนดที่ดินเพื่อการเกษตรได้ จะนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากที่ดินที่นอกเหนือไปจากด้านการเกษตร อันเนื่องจากการสวมสิทธิที่อาจจะเกิดขึ้น หมายความว่า เกษตรกรเป็นผู้มีสิทธิครอบครองจริง แต่ผู้ใช้ประโยชน์กลับไม่ใช่เกษตรกร หากแต่อาจเป็นกลุ่มทุน ซึ่งสุดท้ายมันจะกลายเป็นเรื่องทางธุรกิจ เรื่องของกลุ่มทุน ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของโฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร 

ดังนั้น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการพิสูจน์สิทธิ และการใช้ประโยชน์จากที่ดินจริงอย่างเข้มงวด และดำเนินการอย่างตรงไป ตรงมา เพื่อให้ผลประโยชน์ตกถึงเกษตรกรอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นเท่ากับเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่ดินทำกินให้ทวีคูณยิ่งขึ้น”  นายสรรเพชญ ระบุ