24 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นายสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมกลุ่ม ส.ส.14 คน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เดินทางมายื่นฟ้อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) , รักษาการอธิบดีดีเอสไอ และผู้อำนวยการกองคดีค้ามนุษย์ของดีเอสไอ ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และข้อกล่าวหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ระบุว่า ตนและครอบครัวได้รับความเสียหาย ดีเอสไอ (DSI) จะกล่าวหากันแบบนี้ไม่ได้ ตนได้ยื่นฟ้อง 3 ข้าราชการระดับสูง DSI ปมแถลงกล่าวหาเกี่ยวข้องกับการหักหัวคิวแรงงานที่ฟินแลนด์ 36 ล้านบาท และศาลได้ประทับรับฟ้องแล้ว พร้อมนัดไต่สวนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ นี้
ผมเองพร้อมด้วย สส. 14 คน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เดินทางมายัง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เขตตลิ่งชัน เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แถลงเมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา
มีมติกล่าวหา อดีตรมว. 2 คน และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน 2 คน รวม 4 คน ในความผิด มาตรา 149 และ 157 หลังพบหลักฐานเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับการค่าหักหัวคิวแรงงานที่ไปเก็บผลไม้ป่าที่ ประเทศฟินแลนด์ จำนวน 12,000 คน ระหว่าง ปี 2563-2566 คนละ 3,000 บาท รวมค่าเสียหาย 36 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผมได้ฟ้อง 3 เจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ คือ อธิบดีดีเอสไอ ที่เซ็นเอกสารในขณะนั้น รักษาการอธิบดีดีเอสไอคนปัจจุบัน ผอ.กองคดีค้ามนุษย์ ในข้อหา ม.157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และ ม.200 เป็น จนท.รัฐกลั่นแกล้งให้รับโทษทางคดีอาญา รวมถึงอีก 7-8 มาตราที่เกี่ยวข้อง
การที่ดีเอสไอ ออกมาแถลงข่าว ส่งผลให้ผมและครอบครัว ได้รับความเสียหาย แม้ว่าครั้งนั้นจะไม่มีการเอ่ยชื่อแต่ได้พูดว่า รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตนดำรงตำแหน่งอยู่ทำให้ประชาชนและหลายคนเข้าใจว่า เป็นตนและการที่ตนมาร้องในครั้งนี้ถือเป็นการรักษาสิทธิ์ และเชื่อว่า การที่ดีเอสไอ ออกมาแถลงเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง เนื่องจากคดีสำคัญที่ประชาชนได้รับผลกระทบกลับไม่แถลง
แต่มาแถลงคดีตัวเองที่มีการยื่นสำนวนให้ ป.ป.ช.ไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ยังกลับมาแถลงข่าวทั้งที่เข้าสู่กระบวนการ ป.ป.ช.ไปแล้ว อีกทั้งก่อนหน้านีัยังไม่เคยมีการเรียกตนเองและบุคคลที่เกี่ยวข้องไปสอบถาม ทั้งที่ตนก็เป็นข้าราชการระดับสูง
วันนี้ได้นำเอกสารหลักฐานจำนวนหลายร้อยแผ่นมายื่นต่อศาลซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องแล้ว พร้อมนัดไต่สวนวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้
ผมยังยืนยันในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเช่นเดิมว่า การส่งแรงงานไปทำงานที่ฟินแลนด์เป็นการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง มีหน่วยงานในประเทศไทยรองรับทั้งธนาคารซึ่งแรงงานทุกคนเมื่อกลับมาก็จะได้เงินชดเชยแม้จะไม่ได้ไปทำงานก็ตาม
สิ่งที่ผมปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทำเพื่อพี่น้องประชาชนผู้ใช้แรงงานแต่สิ่งที่ได้รับกลับมาจากหน่วยงานรัฐที่อยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีท่านปัจจุบันจึงอยากให้นายกรัฐมนตรีลงมากำชับตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานดังกล่าวด้วย