หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า การกระทำของพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิ หรือ เสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค 1 และสั่งการให้ผู้ถูกร้อง เลิกการกระทำทั้งหมดที่เกี่ยวกับการยกเลิกม.112 รวมถึงการแก้ม.112 ด้วยวิธีการที่ไม่ใช่กระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ
ในเวลาต่อมา (1 กุมภาพันธ์ 2567) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ และ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุติการกระทำของพรรคก้าวไกล กรณีหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 ต่างเดินทางที่ยื่นร้องต่อกกต.ให้ยุบพรรคก้าวไกล
ฐานเศรษฐกิจ ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เกี่ยวกับชะตากรรมของพรรคก้าวไกลหลังจากนี้ โดยนายสมชัยมีความเห็นว่า แม้คําวินิจฉัยจะไม่ได้พูดถึงการยุบพรรค แต่สามารถถูกนำไปยื่นต่อ กกต.เพื่อดําเนินการไปสู่การยุบพรรคได้ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 (1)
ซึ่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 (1) ระบุว่า ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าพรรคการเมืองใด กระทำการอันเป็นการล้มล้างการปกครอง ให้กรรมการนั้นร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารในการสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งแม้ไม่มีผู้ไปร้องต่อ กกต. แต่คณะกรรมการก็สามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาเองได้เพราะถือเป็นความปรากฏแล้ว ซึ่งพรรคก้าวไกลมีโอกาสถูกยุบพรรคถึง 70% ซึ่งเป็นการประเมินขั้นต่ำแล้ว
เมื่อถามถึงโอกาสรอดของพรรคก้าวไกล นายสมชัยมองว่า ทางพรรคควรต้องให้ความสำคัญกับการไปชี้แจงต่อ กกต. หรือ ศาลรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ เพื่อแสดงเจตนาบริสุทธิ์ของตน
เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการชี้แจงต่อศาลเท่าที่ควร แม้จะมีความเห็นว่าหากยุบพรรคก็ยังสามารถตั้งพรรคใหม่ได้ก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่ากรรมการบริหารจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองด้วย ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนรุ่นใหม่ที่เป็นความหวังของประเทศ จะไม่สามารถเข้าสู่การเมืองถึง 10 ปี หรืออาจตลอดชีวิต ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัยกับการชี้แจงอย่างเต็มที่
กรณีถูกยุบพรรค จะส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นระยะระยะเวลา 10 ปีและไม่สามารถตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่ได้เป็นเวลา 10 ปี แต่หากเป็นการยุบพรรคจากเหตุล้มล้างการปกครอง กรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต
สำหรับชะตากรรมรายบุคคลนั้น นายสมชัยระบุว่า อาจมีการร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากกรณีส.ส. พรรคก้าวไกล 44 คน เสนอร่างแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่ง ปปช. ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณา เมื่อศาลฎีกาประทับรับฟ้อง จะส่งผลให้ผู้ถูกร้องต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที และหากถูกวินิจฉัยว่าผิดจริยธรรมขั้นร้ายแรง ย่อมส่งผลให้ผู้ถูกร้องถูก เพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และตัดสิทธิทางการเมือง (สิทธิเลือกตั้ง) เป็นระยะเวลา 10 ปีด้วยหรือไม่ก็ได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรค5
อย่างไรก็ตามนายสมชัยมองว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการปิดช่องของการแก้ไข หรือยกเลิกกฎหมาย มาตรา 112 เพียงแต่จะต้องไม่มีพฤติการณ์ที่มุ่งหมายในการลดทอนความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ลง
นายสมชัย วิเคราะห์ บรรยากาศทางการเมืองหลังจากนี้ว่ามีความอึมครึ้มมากขึ้นและจะ เกิดแรงกระเพื่อม ที่นำไปสู่การตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนในครั้งหน้า
ทั้งนี้มองว่าประชาชนได้เรียนรู้แล้วว่า การชุมนุมทางการเมือง ไม่ได้เป็นวิธีการที่นำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งการใช้สิทธิ์เลือกตั้งสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้มากกว่า จึงเชื่อได้ว่าประชาชนจะยังคงเลือกพรรคการเมืองที่ตนเอง ให้การสนับสนุนไม่ว่าจะถูกยุบพรรคไปแล้วและต้องตั้งพรรคการเมืองใหม่อีกกี่ครั้งก็ตาม ส่วนพรรคก้าวไกลเองควรต้องประเมินสถานการณ์ในขั้นเลวร้ายที่สุด พร้อมเตรียมแผนตั้งรับให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ด้วยสุขุมรอบคอบ