ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับความเห็นผลการศึกษานโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 8 ข้อ ได้ส่งถึงสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2567 และ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เตรียมส่งหนังสือนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (บอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่) ในต้นสัปดาห์หน้า
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ได้แถลงถึงผลการศึกษาพบว่า มีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา 4 ประเด็น คือ
1.เสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย และการทุจริตกลุ่มเป้าหมาย 2.มีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ
3.เสี่ยงด้านกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ร.บ.เงินตรา และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงระเบียบที่เกี่ยวข้อง และ 4.ในประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่นเทคโนโลยีบล็อกเชน และประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง
และป.ป.ช.ได้มีมติเห็นควรเสนอแนะ เพื่อป้องกันการทุจริตจากนโยบายดังกล่าวต่อ ครม. จำนวน 8 ประเด็น คือ
1.รัฐบาลควรศึกษาวิเคราะห์การดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรม ว่าผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ จะไม่ตกแก่พรรคการเมือง นักการเมือง หรือเอื้อประโยชน์แก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่
2.ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ศึกษาเรื่องการหาเสียงของพรรคเพื่อไทยและคำแถลงนโยบายเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิฉะนั้นจะเป็นบรรทัดฐาน สำหรับพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้ เมื่อได้รับเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องปฎิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้
3.ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและผลกระทบทางเศรษฐกิจในอนาคต และหลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส การถ่วงดุล การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง และ ความคล่องตัว พิจารณาผลดีผลเสียการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะสร้างภาระหนี้ในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4-5 ปี กระทบตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
4.ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบด้าน เพื่อให้การดำเนินการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามกฎหมาย
5.ควรประเมินความเสี่ยงในการดำเนินโครงการ โดยกำหนดแนวทาง หรือมาตรการในการบริหารความเสี่ยง และการป้องกันการทุจริต และมีกระบวนการในการตรวจสอบ ทั้งก่อน ระหว่าง และ หลัง ดำเนินโครงการ เพื่อให้เป็นไปผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง
6.การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ควรพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสม ตลอดจนระยะเวลาและงบประมาณที่ใช้พัฒนาระบบ ของการจ่ายเงินเพียงครั้งเดียว โดยให้ใช้จ่ายภายใน 6 เดือน
7. จากข้อมูลทางเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้จากการศึกษา มีความเห็นตรงกัน ว่าในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของไทย ยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤต เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ
และ 8.หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือประชาชน ควรเลือกช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งงบประมาณปกติ ไม่ใช่เงินกู้ตามพ.ร.บ.เงินกู้ และจ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง”ซึ่งหากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ จะลดความเสี่ยงที่จะขัดต่อกฎหมายต่างๆ และที่สำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว
“ยืนยันว่า ป.ป.ช.ไม่มีหน้าที่ไประงับยับยั้งโครงการ เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ เว้นแต่กรณีที่มีความผิดเกิดขึ้น เกิดการทุจริตไปแล้ว ป.ป.ช.สามารถขอศาลให้มีคำสั่งยกเลิกโครงการได้” นายนิวัติไชย กล่าวถึงโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
ภายหลัง ป.ป.ช. มีข้อเสนอดังกล่าวออกมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ในเรื่องการทุจริตจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบาย และจะมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อดูเรื่องนี้โดยเฉพาะ เป็นเรื่องที่ต้องตอบคำถามให้ได้
ส่วนที่ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะให้ระมัดระวังในเรื่องของการแจกเงิน เรื่องนี้ก็ต้องระมัดระวัง ซึ่งก็มีคณะอนุกรรมการอยู่แล้ว ต้องตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ส่วนหลังจากนี้จะมีการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่นั้น ตนคิดว่าคณะทำงานก็คงทำทุกอย่างที่เป็นการปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน และสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่อีกครั้ง
ต่อข้อเสนอแนะของป.ป.ช.ที่อยากให้แจกเงินเฉพาะกลุ่มเปราะบางนั้น นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องดูว่าสิ่งที่ป.ป.ช.บอกมาเป็นอย่างไร และเหตุผลคืออะไร เพราะหน้าที่ป.ป.ช. คือตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ ส่วนนโยบายจะให้ใครบ้างเป็นของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องคำนึงถึง และน้อมรับฟังตามข้อสังเกตของการทุจริต
ด้าน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวถึงความจำเป็นในการรับฟังและดำเนินการตาม ป.ป.ช.ว่า รัฐบาลชุดนี้ที่มาจากประชาชน มีข้อคิดเห็นใดที่ทักท้วงมา เรายินดีรับฟังและปรับแก้ให้เป็นประโยชน์ ข้อใดที่คิดว่าเป็นปัญหาเราก็พยายามแก้ไข และเดินหน้าให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรพลังประชารัฐ กล่าวถึงความคิดเห็นของ ป.ป.ช.ต่อโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะทำให้มีช่องทางให้มีนักร้องไปร้องเรียนได้ง่ายหรือไม่ ว่า มีโอกาสร้องเรียนได้ง่าย
ใครที่อยากร้องเรียนก็สามารถร้องได้ แต่ต้องเข้าใจ นโยบายของรัฐบาลก่อน และต้องเข้าใจรัฐธรรมนูญ การจ่ายเงินแผ่นดิน รวมถึงต้องเข้าใจกฎหมายวินัยการเงินการคลัง วิธีงบประมาณ เข้าใจกฎหมายหนี้สาธารณะ ซึ่งตนได้เขียนเรื่องนี้เตือน นายเศรษฐา ไปแล้ว 4 แผ่น เป็นข้อกฎหมายล้วน ๆ และไม่แปลกใจที่กฤษฎีกา และ ป.ป.ช.ให้ความเห็นครั้งนี้
“หากเริ่มดำเนินการโครงการนี้ก็เข้าข่ายความผิดรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ป.ป.ช. ไม่ต้องห่วงผมทำให้ แต่ผมกล่าวหาก็ไม่ใช้อารมณ์ ไม่ใช้ความเห็น รัฐบาลก็มีสิทธิแก้ข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ตรวจสอบเข้าตรวจสอบไป จะผิดจะถูกก็ฟังคำตัดสิน” นายเรืองไกร ระบุ
จุดเสี่ยงทางกฎหมาย
พรบ.กู้เงิน 5 แสนล้าน
หาก “รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน” เดินหน้าออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านกฎหมาย ประกอบด้วย กฎหมาย 8 ฉบับ - 4 คำวินิจฉัย - 3 มติคณะรัฐมนตรี
ฉบับแรก เป็นกฎหมายใหญ่สุด คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 71 มาตรา 75 มาตรา 134 มาตรา 140 มาตรา 172 มาตรา 245
ฉบับที่ 2 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 57
ฉบับที่ 3 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 73 มาตรา 136
ฉบับที่ 4 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 32
ฉบับที่ 5 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 49 มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 56 มาตรา 57 มาตรา 59
ฉบับที่ 6 พ.ร.บ.เงินคงคลัง พ.ศ.2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7
ฉบับที่ 7 พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9
ฉบับที่ 8 พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 มาตรา 20 มาตรา 22
นอกจากนี้ยังมี “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 1/2541 : ในการตรา พ.ร.ก.ทั้ง 4 ฉบับ ที่ครม.ได้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาอนุมัติ ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ.2541, พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน พ.ศ.2541
พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2585 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2540 พ.ศ.2541 และ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/2552 : กรณี พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5-7 / 2555 : กรณี พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-4/2557 : กรณี (ร่าง) พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....
รวมถึงยังมีมติ ครม. ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
มติครม.วันที่ 21 ธ.ค. 2553 ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.เรื่อง การบูรณาการป้องกันการทุจริตของโครงการภาครัฐ (โดยการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน)
มติครม.วันที่ 25 มิ.ย. 2562 เรื่อง เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย และคู่มือการใช้เกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย
มติครม.วันที่ 22 ธ.ค. 2566 เรื่อง ข้อเสนอแนะแนวทางบูรณาการขับเคลื่อนการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายในขั้นตอนการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ