ทักษิณ พักโทษ บ้านจันทร์ส่องหล้า จุดเช็กอินลูกน้อง-ขุนพลคู่ใจ

18 ก.พ. 2567 | 00:00 น.

จับตาลูกน้อง-ขุนพลคู่ใจ ตบเท้าเยี่ยม "ทักษิณ" กลับบ้านครั้งแรกในรอบ 18 ปี หลัง "พักโทษ" คุมประพฤติ "บ้านจันทร์ส่องหล้า" อีก 6 เดือน ก่อน "พ้นโทษ" รับ "ใบบริสุทธิ์" วันที่ 22 สิงหาคม 2567

เป็นไปตามฤกษ์ยาม 06.09 นาที "ทักษิณ ชินวัตร" นักโทษเด็ดขาด เดินทางออกจากโรงพยาบาลตำรวจ ภายหลังได้รับการ "พักโทษ" มุ่งหน้าสู่ "บ้านจันทร์ส่องหล้า" ในเวลา 06.33 นาที 

เวลานับจากนี้ต้องจับตาว่าจะมี "บุคคลระดับ VVIP" ทั้งนักการเมือง-นักธุรกิจเบอร์ใหญ่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน "บ้านจันทร์ส่องหล้า" สถานที่คุมประพฤติอีก 6 เดือนของ "ทักษิณ" ก่อนจะถึงวัน "พ้นโทษ" ในวันที่ 22 สิงหาคม 2567 

แต่ที่มาแน่ๆ คือ ลูกน้อง-ขุนพลคู่ใจ "ทักษิณ" ที่จะต้องมาดูหน้า-ให้กำลังใจ "นายใหญ่" เป็นครั้งแรก คนแรก เป็นใครไปไม่ได้ เขาคือ “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการนายกฯคู่ใจ-ลูกน้องทักษิณ 

อดีตแกนนำศึกษาคนสำคัญใน 2 เหตุการณ์เลือดเดือนตุลาคม ปี 16 ปี 19 จนต้องเข้าป่า-จับปืน อดีตหมอชนบท รู้จักกับทักษิณในฐานะ “เจ้านาย” เจ้าของบริษัท ไอบีซี 

“หมอมิ้ง” ผจญภัยการเมืองกับ “ทักษิณ” ตั้งแต่ช่วงการเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แม้จะวิ่งรอกทำเนียบ-ตึกไทยคู่ฟ้า ไปยังกองบัญชาการทหารสูงสุด เพื่อตั้งกองบัญชาการต่อต้านการปฏิวัติ แต่ก็ไม่สำเร็จ 

ปัจจุบัน “หมอมิ้ง” รับบทเป็นผู้ขยายผล-เขย่าขวดนโยบายรัฐบาลพรรคลูก-พรรคหลานทักษิณ ก่อนขึ้นโต๊ะเสิร์ฟให้โหวตเตอร์ได้ลิ้มเมนูใหม่ที่มีทักษิณเป็นต้นตำหรับ  

คนที่สอง “สหายใหญ่” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี-รมว.พาณิชย์ เป็นทั้งเพื่อนร่วมงาน-ลูกน้องทักษิณ ตั้งแต่สมัยที่ทักษิณเป็น “ตำรวจติดตามรัฐมนตรี” นายปรีดา พัฒนถาบุตร ยุครัฐบาลพล.อ.เปรม   

อดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลาฯ หลังออกจากป่า-วางปืน และหันหลังให้วงการเอ็นจีโอ ก็พลิกชีวิตมาเป็น “ผู้ก่อตั้ง” พรรคไทยรักไทยกับ “ทักษิณ” ตั้งแต่ปี 2539 และเป็นสารตั้งต้นในการกระจายทรัพยากร ผ่านนโยบาย “กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง”

"ภูมิธรรม" อดีตรมช.คมนาคม รัฐบาลทักษิณ 2 คือ คนที่ร่วมวงรับประเทศอาหาร “มื้อสุดท้าย” ก่อนที่ “ทักษิณ” จะเดินทางออกนอกประเทศ-สูญสิ้นอำนาจ โดยรัฐประหาร 19 กันยายน 49  

“ผู้จัดการอ้วน” เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในการ “จัดตั้งรัฐบาล” เป็นเสมือน “ผู้จัดการทักษิณ” ในการ “หักเลี่ยมโหด” เขี่ย พรรคก้าวไกลไปเป็น “พรรคฝ่ายค้าน” เป็น “สายเหยี่ยว” บินโฉบ-จิก “พรรคทหาร” มา “ผสมพันธุ์ข้ามขั้ว” 

คนที่สาม “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ  คนที่เบนเข็มจาก “อาจารย์แพทย์” โรงพยาบาลรามาธิบดี เข้าสู่เส้นทางการเมืองในฐานะ “สส.สอบตก” ที่มี “ทักษิณ” เป็น “หัวพรรคพลังธรรม” 

แผลสดจากความพ่ายแพ้เมื่อการเลือกตั้งปี 39 จะไม่ตกสะเก็ด “หมอเลี้ยบ” ได้รับคำชักชวนจาก “หมอมิ้ง” ให้เข้ามาช่วยทำงานการเมืองอีกครั้ง โดยมีทักษิณเป็น “หัวหน้าพรรคไทยรักไทย” เป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ “30 บาทรักษาทุกโรค” 

“หมอเลี้ยบ” เผชิญวิบากกรรมกับ “ผู้นำพลัดถิ่น” ตั้งแต่วินาทีที่ “ทักษิณ” นั่งหัวโต๊ะประชุม ครม.แบบทางไกลจากสหรัฐ ฯ สู่ตึกแดง ทำเนียบรัฐบาล ในห้องอาหารบนโรงแรมหรูกลางกรุงนิวยอร์ก จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายที่ ถูกรัฐประหาร “ข้ามโลก

อดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 เข้าสู่สมรภูมิการเมือง-สงครามตัวแทนอีกครั้ง ภายใต้เสื้อคลุมเลขาธิการพรรคพลังประชาชน เลือกตั้ง 66 ในฐานะ “กลุ่มแคร์” มีบทบาท “คิดเคลื่อนไทย” กำหนดวาระเศรษฐกิจ-วาทะการเมืองให้ “โทนี่วู๊ดซัม” ช่องยูทูป  

คนที่สี่ “เสี่ยเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตผู้อำนวยการพรรคไทยรักไทย บทบาทของ “เสี่ยเพ้ง” ในยุคทักษิณ  High Profit ทั้งในช่วงเรืองอำนาจ-หมดอำนาจ “เสี่ยเพ้ง” จึงเป็นทั้งเพื่อนร่วมทุกข์-ร่วมสุข ไม่กี่คนของ “ทักษิณ” 

ปัจจุบัน “เสี่ยเพ้ง” Low Profile หลังจากประกาศ “วางมือ” ทางการเมือง โดยมี สส.เพื่อไทย เป็นสักขีพยาน ในวันครบรอบวันเกิดอายุ 69 ปี ที่บ้านพักย่านเหม่งจ๋าย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 

ในยุค “ทักษิณใหม่” มี “สายตรง” ทักษิณ ที่ถือ “ตั๋วชั้น14” คือ “มนพร เจริญศรี” รมช.คมนาคม เป็น “ตัวเชื่อม” ระหว่าง ฝ่ายนิติบัญญัติ กับ “รัฐบาลเศรษฐา” ไม่ให้มีรอยต่อ 

อีกคนที่เป็น “จิ๊กซอว์สำคัญ” คือ “พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” รมว.ยุติธรรม ที่เป็น “หนังหน้าไฟ” รับแรงกระแทก คอยตอบข้อคำถาม-ข้อกังขาในช่วงก่อนทักษิณ “พักโทษ” 

โดยมี “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รองนายกรัฐมนตรี-อดีตเจ้ากระทรวงยุติธรรม สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำคลอด “ระเบียบพักโทษฉบับใหม่” 

18 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 06.33 นาที "บ้านจันทร์ส่องหล้า" กำลังจะถูกปลุกให้ "ฟื้นคืนชีพ" กลับมาเป็น "ศูนย์กลางอำนาจ" อีกครั้ง หลังจากปิดประตูตายมา 18 ปีเต็ม