วันนี้(29 ก.พ. 67) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกสร อดีตทนายความอดีตพุทธะอิสระ ได้ยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า การกระทำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกล ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ นายพิธา และพรรคก้าวไกล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อ “ล้มล้างการปกครองฯ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ตอนหนึ่งของคำวินิจฉัยระบุว่า ผู้ถูกร้องทั้ง 2 ยังมีพฤติการณ์หาเสียงทางการเมือง เพื่อเสนอแนวความเห็นทางการเมืองแก่ประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนทั่วไปไม่รู้เจตนาแท้จริงของผู้ถูกร้องทั้ง 2 อาจหลงกับความเห็นผ่านการเสนอร่างกฎหมาย และนโยบายของพรรค
ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3/2562 วินิจฉัยว่า สาระสำคัญหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของไทย ดังระบุในความของพระราชหัตถเลขา 1/60 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2547 ว่า พระมหากษัตริย์ และ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง โดยเฉพาะการไม่เข้าไปมีบทบาท ฝักฝ่าย ต่อสู้ หรือรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันฯ ต้องถูกลบล้างไป
ดังปรากฏเป็นที่ประจักษ์ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 6/43 วินิจฉัยว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจอธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง เป็นกลางการเมือง การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขมาตรา 112 เพื่อลดสถานะของสถาบันฯ เป็นนโยบายพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้นโยบายพรรคโดยนำสถาบันฯ หวังผลคะแนนเสียง และประโยชน์ในการชนะเลือกตั้ง
มุ่งหมายให้สถาบันฯ อยู่ในฐานะคู่ขัดแย้งกับประชาชน ทำให้สถาบันฯเป็นฝักใฝ่ ต่อสู้ แข่งขัน หรือรณรงค์ทางการเมือง อันอาจนำมาซึ่งการโจมตี ติเตือน ไม่คำนึงหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีหลักสำคัญว่า พระมหากษัตริย์ต้องดำรงฐานะอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมือง
การที่ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไข มาตรา 112 และใช้เป็นนโยบายพรรคหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว มีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ เป็นเหตุให้สถาบันฯ ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เป็นเหตุให้นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ฟังไม่ขึ้น
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 เลิกการกระทำ แสดงความเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้ยกเลิกมาตรา 112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ 49 และ พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 74
คลิกอ่านเพิ่มเติม: คำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ