ศึกหนัก “เศรษฐา” ส.ว.-ฝ่ายค้าน เปิด 2 เวทีซักฟอก

09 มี.ค. 2567 | 01:30 น.

ศึกหนัก “เศรษฐา” ส.ว.-ฝ่ายค้าน เปิด 2 เวทีซักฟอก : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมืองหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ 3973

KEY

POINTS

 

  • พรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ในวันที่ 13 มี.ค.นี้ คาดว่าจะได้อภิปราย 3 - 5 เม.ย. ก่อนปิดสมัยประชุมสภา

 

  • ขณะที่“สมาชิกวุฒิสภา”ที่ได้ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 จะมีการอภิปรายในวันที่ 25 มี.ค.นี้ เพียงวันเดียว

 

  • รัฐบาลภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” ต้องเจอกับศึกหนัก แม้จะไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล แต่ก็เชื่อว่าจะทำเอา “สะบักสะบอม” ได้ 

นับแต่ “รัฐบาลเศรษฐา” ภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 11-12 ก.ย. 2566 จวบจนถึงปัจจุบัน ล่วงเลยมาราว 7 เดือน ยังไม่ครบ 1 ปี

แต่บรรดา สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งจะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. 2567 นี้ รวมถึงพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ไม่เปิดโอกาสให้ “หลุดลอยไป” เตรียมที่จะเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 และ 152 ก่อนที่จะมีการปิดสมัยประชุมสภา

โดยเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้าน อันประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย และ พรรคเป็นธรรม 

ก่อนที่ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านจะออกมาแถลงว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านทุกพรรคได้หารือ และมีมติร่วมกันที่จะขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงและเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐบาล 

โดยจะยื่นญัตติในวันที่ 13 มี.ค.นี้ เบื้องต้นเห็นควรว่าต้องมีการอภิปรายโดยใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน ขณะที่เวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นช่วงหลังการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระ 2 - 3 แล้วเสร็จ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ จะเข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 วันที่ 27- 28 มี.ค.นี้ ดังนั้น เวลาที่เหมาะสมในการอภิปรายฯ ตามมาตรา 152 คือ ช่วงวันที่ 3 - 5 เม.ย.ก่อนที่สภาจะปิดสมัยประชุม

กรอบฝ่ายค้านซักฟอกรัฐบาล

สำหรับประเด็นที่จะมีการอภิปราย หลังจากรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินมากว่า 6 เดือน แต่ไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ซ้ำยังเพิกเฉยต่อการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ไม่มีการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม 

ปล่อยปละละเลยให้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลทั้งคนไทยและต่างประเทศ เอารัดเอาเปรียบประชาชน ปล่อยให้ข้าราชการเรียกรับผลประโยชน์ รีดนาทาเล้นประชาชน หลักนิติธรรมถูกทำลายโดยการเลือกปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรม บริหารประเทศอย่างไร้จริยธรรม ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความสามารถ ไร้วุฒิภาวะ ทั้งหมดเป็นประเด็นเบื้องต้นที่มีการนำเสนอในที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน

เล็งอภิปรายปมทักษิณ

ด้าน นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า พรรคปชป.พร้อมร่วมอภิปรายฯ โดยได้เตรียมเนื้อหามาได้ระยะหนึ่งแล้ว 
ส่วนจะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ด้วยหรือไม่

นายชัยชนะ กล่าวยอมรับว่า ใช่ รวมถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ที่ทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่ว่าเรื่องของนายทักษิณ หรือเรื่องอื่นๆ ในกระบวนการยุติธรรม ที่เราดูแล้วว่าไม่มีความเสมอภาค เลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน เราจะตรวจสอบทั้งหมด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มั่นใจจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาล อย่างน้อยเป็นการสะท้อนปัญหาและไขน็อตการทำงานของรัฐบาล ที่ทำหน้าที่บกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดิน มั่นใจฝ่ายค้านยังสะท้อนปัญหาได้ดี ทั้งนี้ ฝ่ายค้านยังไม่ได้ลงรายละเอียดว่าจะอภิปรายหัวข้ออะไรบ้าง

เมื่อถามว่าจะอภิปรายถึงการทำหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า สามารถพูดได้ เพราะเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ความไม่ยุติธรรม สองมาตรฐานเกิดขึ้นจากรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่รู้เห็น ไม่ยอมให้เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นอภิปรายได้ ถ้ามี ส.ส.หยิบยกขึ้นมา

ขออย่าเล่นเกมการเมือง

ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลนี้เข้ามา 6 เดือน ยังไม่มีงบประมาณ บางเรื่องที่ฝ่ายค้านไม่เข้าใจหรือเห็นต่าง ก็เสนอแนะได้ เพราะมาตรานี้ก็เปิดโอกาส ให้เสนอแนะรัฐบาลในเรื่องต่างๆ รัฐบาลมีหน้าที่ตอบ 

“แต่ขออย่างเดียว ให้เป็นการเสนอแนะให้รัฐบาลทำหน้าที่ต่อไป อย่าพยายามทำให้เป็นเกมการเมือง เพื่อสร้างความนิยม หรือคัดค้านทุกเรื่อง จะได้ไม่เสียเวลา บางเรื่องก็สามารถตั้งกระทู้ถามได้ และ หากฝ่ายค้านจะอภิปรายแค่ไม่กี่ประเด็น จะขอเวลาทำไมตั้ง 2-3 วัน ขอให้ไปทบทวนอีกครั้ง” 

                        ศึกหนัก “เศรษฐา” ส.ว.-ฝ่ายค้าน เปิด 2 เวทีซักฟอก

ส.ว.ถล่มรัฐบาลทิ้งทวน

ในการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมตินี้ ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2567 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ยื่นญัตติที่ร่วมลงชื่อโดย ส.ว. 98 คน ยื่อต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรี แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา 153 

โดยกรอบของ ส.ว. ที่จะอภิปรายรัฐบาล มี 7 ประเด็น อาทิ

1.ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติและปัญหาปากท้องของประชาชน  รวมถึงสภาพปัญหาการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท 

2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ตามคำพิพากษาที่สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยพวกพ้องหาผลประโยชน์ส่วนตัว 

3.ปัญหาด้านพลังงาน ไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างปัญหาของประเทศ และการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟ ก๊าสหุ้งต้ม และ น้ำมัน 

4.ปัญหาด้านการศึกษาและสังคม ไม่เร่งปฏิรูปการศึกษาเพิกเฉยต่อการพลักดันการตราพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู 

5.ปัญหาด้านการต่างประเทศและการท่องเที่ยว รัฐบาลจะแก้ไขอย่างไรกับผู้กระทำความผิดที่เป็นจีนเทา 

6.ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการทำประชามติ ต้องมีความชัดเจน เพื่ออธิบายให้ได้ว่ามีความจำเป็นในการดำเนินการอย่างไรโดยชอบด้วยกฎหมาย เกิดประโยชน์ของประชาชน  

และ 7. ปัญหาการดำเนินการปฏิรูปประเทศ และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 

ศึกหนัก"เศรษฐา"

ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้เป็นประธานการประชุมวิปวุฒิสภา เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไป ครม. ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 25 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 – 24.00 น. รวมทั้งสิ้น 15 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นการอภิปรายของ ส.ว. 11 ชั่วโมง 30 นาที, ครม.ตอบชี้แจง 3 ชั่วโมง และประธานวุฒิสภา 30 นาที 

เป็นรัฐบาลไม่ถึงปี แต่ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกฯ ต้องมาเจอกับศึกหนัก ทั้งการ “ด่าฟรี” ของ บรรดา ส.ว. และ พรรคร่วมฝ่ายค้าน 

แม้จะไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาล แต่ก็เชื่อว่าจะทำเอา “สะบักสะบอม” ได้เหมือนกัน...