สมรสเท่าเทียมคืออะไร ล่าสุดสภาฯผ่านวาระ 3 ด้วยมติเอกฉันท์ 400 เสียง

27 มี.ค. 2567 | 08:39 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มี.ค. 2567 | 08:49 น.

สมรสเท่าเทียมคืออะไร สรุปเนื้อหากฎหมาย ล่าสุดสภาฯผ่านวาระ 3 ด้วยมติ เอกฉันท์ 400 เสียง ขั้นตอนหลังจากนี้ส่งไม้ต่อ วุฒิสภาฯ ดำเนินการชี้ขาด

สมรสเท่าเทียมคืออะไร หลัง สภาผู้แทนราษฎร ประชุม พิจารณาร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 หลังจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายครบแล้ว 68 มาตรา และได้ลงมติที่ประชุ ผลปรากฏว่าที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน เห็นด้วย 399(+1) ไม่เห็นด้วย 10 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 3 ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม

สมรสเท่าเทียมคืออะไร

สมรสเท่าเทียม คือ การสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่จำกัดเฉพาะชายและหญิงเท่านั้นแต่จะครอบคลุมทุกเพศสภาพ ทั้งเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยจะก่อให้เกิดสิทธิในการหมั้น การจดทะเบียนสมรส การจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส การเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญาเช่นเดียวกับคู่สมรส การรับมรดกเมื่ออีกฝ่ายเสียชีวิต การรับบุตรบุญธรรม การรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์การเบิกจ่ายสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น การรับประโยชน์ทตแทนจากประกันสังคม และการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงสิทธิอื่น ๆ ทางกฎหมายที่รับรองสิทธิของคู่สมรส

สมรสเท่าเทียม

 

 

สรุปเนื้อหาสมรสเท่าเทียม

สำหรับเนื้อหาของร่างกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดให้การสมรส หรือแต่งงานครอบคลุมบุคคลทุกเพศ ไม่จำกัดแค่เพศชายและเพศหญิง

พร้อมทั้งให้อายุการสมรสเป็น 18 ปี จากเดิม 17  ปี และการบัญญัติคำว่า "บุพการีลำดับแรก" ในกฎหมายให้มี สิทธิ และหน้าที่เทียบเท่าบิดามารดา

การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ไทย กลายเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศ หรือดินแดน แห่งที่ 3 ในเอเชีย ที่ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมต่อจากไต้หวัน และเนปาล

หลังจากสภาผ่านสมรสเท่าเทียมแล้ว ขั้นตอนต่อไป เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา และ หากผ่านชั้นของวุฒิสภา แล้ว จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป.