นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี โฆษกประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เปิดเผยว่า วันนี้ (14 มีนาคม 2567) คณะกรรมาธิการฯ จะประชุมนัดพิเศษ เพื่อรับรองร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยตั้งเป้าหมายผลักดันร่างกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาให้ทันในวันที่ 27 มีนาคม 2567 ก่อนสภาปิดวาระการประชุมครั้งนี้
“ในการที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ใช้เวลาในการประชุมนานกว่าที่คาดไว้จริง เพราะในโค้งสุดท้ายของการกลั่นกรอง ได้มีการนำเนื้อหาทั้งหมดที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ทำงานร่วมกันมากว่า 3 เดือนมาย้อนพิจารณา มีการทบทวนในหลายจุดยืนและหลายรายละเอียดของการตัดสินใจเลือกใช้ภาษา เพื่อให้มั่นใจ ว่าครบถ้วน สมบูรณ์ รอบคอบ และถูกต้องที่สุด”
นางรัดเกล้า กล่าวว่า ขั้นตอนสุดท้ายคือการมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำข้อคิดเห็นที่มีเพิ่มเติมเพียงบางส่วนในวันนี้ ไปปรับแก้ฉบับร่างฯ ที่ได้เตรียมไว้เกือบสมบูรณ์ให้เสร็จสิ้นทันการประชุมครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นการประชุมรอบพิเศษเพื่อรับรองฉบับร่างฯ โดยเฉพาะ ในวันที่ 14 มีนาคม นี้ เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุมกรรมาธิการ CB 303 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ หากจากคณะกรรมาธิการมีมติเห็นชอบและรับรองฉบับร่างฯ แล้ว จะนำเสนอ พรบฯ บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระ 2 และ 3 โดยเป้าหมายของเราคือให้ทันในวันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 ก่อนสภาปิดวาระการประชุมครั้งนี้ หากสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ฉบับร่างฯ ก็จะสามารถเดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนการนำเสนอวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป
ก่อนหน้านี้ในการผลักดัน ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 369 ต่อ 10 รับหลักการร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระแรก จำนวน 4 ฉบับ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี, นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายสรรเพชญ์ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และจากภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายกว่า 10,000 คน
สาระสำคัญของ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กำหนดเนื้อหาต่าง ๆ เช่น การสมรส และการหมั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่าย เมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว โดยการสมรสจะสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อได้มีการจดทะเบียนต่อนายทะเบียนแล้ว และคู่สมรสทุกเพศ ยังมีสิทธิในสินสมรสเหมือนคู่สมรสชายหญิง สิทธิในการฟ้องหย่า การจัดการสินสมรสหลังหย่า สิทธิในมรดก เป็นต้น