เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผูัแทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาเรื่อง การเปิดสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร เพื่อแก้ปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสร็จแล้ว
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานกมธ.ฯ กล่าวว่า รายงานผลการพิจารณาฉบับดังกล่าว แบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย โครงสร้างหน่วยงานรัฐที่ควบคุมและกำกับดูแลสถานบันเทิงครบวงจร, โครงสร้างธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร, การจัดเก็บภาษีและรายได้จากสถานบันเทิงครบวงจร และผลกระทบของสถานบันเทิงครบวงจร และการป้องกันและการเยียวยาผลกระทบ
ทั้งนี้ เป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่า เรื่องนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ทั้งสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างเม็ดเงินในหลากหลายรูปแบบ นอกจากนั้น ยังสามารถพัฒนาทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมใหม่ต่อยอดในอุตสาหกรรมเดิม ส่งเสริมการท่องเที่ยว และ ในขณะเดียวกันสามารถแก้ไขปัญหาการพนันผิดกฎหมายได้
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การศึกษาของกมธ. ไม่ใช่ข้อยุติ วันนี้สิ่งที่นำเสนอเป็นเพียงแค่รายงานการศึกษา หลังจากรายงานเข้าสู่สภาฯ วันนี้แล้ว หากที่ประชุมมีมติว่า เห็นชอบการศึกษาฉบับนี้ ก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการเดินหน้า Entertainment Complex และไม่ใช่จุดสุดท้าย
เพราะสุดท้ายกลไกลของสภาฯ รับในเรื่องของรายงานการศึกษา หากรับแล้วก็คงต้องส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปพิจารณาในรายละเอียดต่อไป ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ในการที่จะพิจารณาว่า โครงการพัฒนาลักษณะนี้ มีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ จะปิดกั้นปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร และมีความเหมาะสมในการเดินหน้าอย่างไร เมื่อไหร่
โดยกลไกลสุดท้ายหัวใจหลักคือ ตัวกฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่เรานำเสนอเป็นเพียงแค่การยกร่าง เชื่อว่าทุกคนอาจจะมีคามเห็นแตกต่างในเรื่องเนื้อหาของกฎหมาย และหากเป็นการเดินหน้าโดยฝ่ายบริหาร ก็ต้องส่งกลับมายังสภาฯ เพื่อพิจารณารายละเอียดของกฎหมายที่จะมาใช้ควบคุม
ต่อมาเมื่อเวลา 14.30 น. สมาชิกสภาฯ ส่วนใหญ่อภิปรายเห็นด้วย แต่ยังมีสมาชิกบางส่วน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ยังเห็นว่า รายงานฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์ โดยเสนอแนะให้มีมาตรการควบคุมป้องกันการพนันใต้ดิน การฟอกเงินผิด หรือ ทุนสีเทาจากต่างชาติเข้ามาครอบงำ นอกจากนี้ยังเสนอให้นำกีฬาพื้นบ้าน อาทิ ไก่ชน วัวชน เข้ามาพิจารณาใส่ในการพิจารณาศึกษาสถานบันเทิงครบวงจรด้วย
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายตอนหนึ่งว่า มีการพูดคุยกันในรายงานนี้ บอกว่า จังหวัดที่มีศักยภาพมี 44 จังหวัด แต่พูดตามตรงที่ท่านตกลงกันด้านหลังว่า อู่ตะเภาคือ ที่แรก ที่จะทำ รวมถึงเซ็นสัญญาไปแล้ว
“แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นความโปร่งใสอยู่ตรงไหน เท่ากับว่าท่านล็อคไว้แล้วว่ากาสิโน จะอยู่ภายใต้การดูแลของใคร ผมได้พยายามเช็ค พยายามเช็คอีเมลได้มีต่างชาติส่งรายงานของยูเอ็น ที่กังวลต่อการผลักดันเรื่องนี้ เพราะเขากลัวว่าประเทศไทยจะเป็นศูนย์รวมจีนเทาแห่งใหม่ที่อาจเกิดได้”
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า "เราทำในเรื่องการพนันผิดกฎหมาย และเพื่อประโยชน์เศรษฐกิจประเทศ แต่ผลออกมาเน้นแต่ด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ด้านกฎหมายไม่มีเลย ถ้าไปอ่านรายงานโดยละเอียด เมื่อถามว่าจะแก้พนันผิดกฎหมายอย่างไร สรุปแก้ไม่ได้ ให้เป็นเรื่องของตำรวจ แล้วที่เรารับอาณัติจากสภา ที่ต้องประชุมกมธ. แล้วเราจะได้อะไรกลับมา
ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้คัดค้านการมีกาสิโนในไทย แต่ทำแล้วต้องทำให้มันดี ทำแล้วต้องแก้ปัญหาการฟอกเงิน ไม่สร้างปัญหาใหม่ นี่คือที่เราต้องการ ก็ขอฝาก นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้เอารายงานฉบับนี้กลับไปทำมาใหม่"
ขณะที่ในเวลา 18.30 น. ก่อนที่จะมีการลงมติในรายงานฯ นายชุติพงษ์ พิภพภิญโญ ส.ส.ระยอง พรรคก้าวไกล ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ลุกขึ้นหารือขอเสนอให้มีการนับองค์ประชุม โดยให้เหตุผลว่า อยากเห็นความมุ่งมั่นจากฝ่ายรัฐบาลในเรื่องนี้
ทำให้ นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะวิปรัฐบาล ลุกขึ้นชี้แจงว่า ได้คุยกับวิปทั้ง 2 ฝ่าย ว่าจะจบการประชุมด้วยความร่วมมือด้วยดี ดังนั้น รายงานฯ ฉบับนี้ ข้อคิดเห็น ติชม เชื่อว่า กมธ.ฯ จะนำสิ่งนี้มารวมเล่มอยู่ในรายงานด้วย
“ที่ผ่านมาเราให้เกียรติกันว่า สมาชิกตั้งใจทำรายงานฯ ขึ้นมา แต่ถ้านายชุติพงษ์ เล่นเกมแบบนี้ ในอนาคต ถ้าเป็นรายงานฯ ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ผมจะไม่รับสักเล่ม”
ขณะที่ นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวว่า เราตกลงกันเรียบร้อยแล้ว แต่การที่ นายชุติพงษ์ เสนอแบบนี้ ทำให้ข้อตกลงของวิปทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ศักดิ์สิทธิ์ใช่หรือไม่
ดังนั้น หมายความว่าในสัปดาห์หน้า เป็นสัปดาห์สุดท้าย ที่ฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายตาม มาตรา 152 ซึ่งข้อตกลงของวิปฯ ให้เวลาฝ่ายค้านอภิปรายรัฐบาล เพื่ออะลุ่มอะล่วยกัน ถ้าไม่ตกลงตามข้อตกลงของวิปทั้ง 2 ฝ่าย เรื่องเวลาตนขอไม่เป็นตามเดิมแล้ว เรามาแบ่งเวลาในการอภิปรายมาตรา 152 กันใหม่ สัปดาห์หน้าตนของนับองค์ประชุมบ้างได้หรือไม่ ถ้าทำกันแบบนี้
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า หากสัปดาห์หน้าอยากจะหนีการตรวจสอบโดยการให้มีการนับองค์ประชุม ก็ลองดู
ส่วน นายชุติพงษ์ ลุกขึ้นชี้แจงอีกครั้งว่า ไม่ได้พลิกมติวิปทั้ง 2 ฝ่าย แต่เราอยากให้ กมธ.ถอนรายงานกลับไปพิจารณาอีกครั้ง เพื่อนำกลับเข้ามาพิจารณาใหม่ ตนยืนยันว่าพร้อมจะลงมติให้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม วิปทั้ง 2 ฝ่าย ยังถกเถียง จนยังไม่ได้ข้อตกลง กระทั่ง นายอรรถกร ลุกขึ้นเสนอให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อ จะได้รู้กันไปเลยว่าในวันนี้มีใครมาเข้าประชุมบ้าง
จน นายพิเชษฐ์ ประธานที่ประชุม วินิจฉัยว่า ขอให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ แม้ทาง ส.ส.พรรคก้าวไกล จะทักท้วงว่า ขณะนี้มี 2 ญัตติ คือ ฝ่ายหนึ่งเสนอให้มีการนับองค์ประชุมโดยการเสียบบัตร กับอีกฝ่ายเสนอให้นับองค์ประชุมโดยการขานชื่อ
ดังนั้น จะต้องมีการลงมติชี้ขาดใน 2 ญัตตินี้ว่าจะเอาแบบใด มิฉะนั้นจะเป็นญัตติซ้อนญัตติที่ขัดกัน ไม่เป็นตามข้อบังคับ และหากทำแบบนี้ จะทำให้เกิดเป็นบรรทัดฐานต่อไป
แต่ไม่เป็นผล นายพิเชษฐ์ ได้แจ้งว่า วินิจฉัยไปแล้วให้นับองค์ประชุมแบบขานชื่อ และได้เริ่มนับองค์ประชุมในเวลา 19.00 น.