จากเวทีประชุมวิชาการของศาลรัฐธรรมนูญ จัดประชุมทางวิชาการประจำปี หัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" เนื่องในโอกาส 26 ปีแห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ ช่วงของการอภิปรายร่วมกันในหัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" ร่วมด้วย ดร.ปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิ, รศ.ดร. ภูมิ มูลศิลป์ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ, รศ.ดร.มานิตย์ จุมปา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย นายบากบั่น บุญเลิศ รองประธานการบริหาร บ.เนชั่น กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
ศ.ดร.อุดม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการทำหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของศาลรัฐธรรมนูญว่า ศาลรธน.มีบทบาทในรธน.เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แต่บทบาทที่มุ่งให้ศาลรธน.ทำในความเป็นจริงนั้นไปเกี่ยวข้องกับหลายเรื่อง อาทิ สิทธิเสรีภาพของประชาชน และจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับการจัดวางอำนาจซึ่งมีผลกระทบกับเสถียรภาพของบ้านเมืองไม่น้อย เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ของภาครัฐ อย่างไรก็ดี การจะบอกว่ากฎหมายใดประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นต้องมองว่ากฎหมายนั้นเกี่ยวกับอะไร ซึ่งรธน.นั้นเกี่ยวข้องอยู่ประมาณ 3-4 เรื่อง
ประการแรก คือ กำหนดว่าผู้มีอำนาจเป็นใคร การกำหนดกลไกของรัฐในการใช้อำนาจ หรือองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย
ประการที่ 2 คือ รธน.กำหนดสิทธิเสรีภาพ คือ กำหนดให้ผู้อยู่ใต้ปกครองจะอยู่อย่างไร สำหรับประเทศไทยก็จะคิดถึงนิติรัฐ ความพอเหมาะพอดีในการใช้อำนาจ สิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชน เหล่านี้เป็นบริบทที่สังคมอาจจะมีความแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นปัญหาที่นักกฎหมายต้องไปดูเพื่อกำหนดเป็นของตัวเองเพื่อกำหนดเป็นกรอบกว้าง ๆ
ประการที่ 3 คือ การเขียนถึงกลไกในการตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องของศาลที่ปัจจุบันอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องเพิ่มองค์กรอิสระเข้ามาเป็นตัวช่วยปัจจุบัน เหล่านี้ก็ย่อมมีธรรมชาติที่แตกต่างกันไป
ประการที่ 4 ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ คือ เป้าหมายการเมืองคือการทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่ดูเลื่อนลอยมาก จึงมาลงที่การต้องปฏิรูปประเทศ เรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ อย่างไรก็ดี ก็มีส่วนที่เป็นไปตามหลักการ ดังนั้น ถามว่าประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน คงตอบไม่ได้ชัด เพราะรธน.แต่ละฉบับเขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ของการเมืองไทย รวมถึงบริบทของสังคมในแต่ละช่วงเวลานั้น ๆ ที่ส่งผลให้เกิดวิวัฒนาการของรธน.ฉบับนั้น ๆ เป็นหลัก ตั้งแต่รธน.ปี 40 ส่วนใหญ่จะเขียนยาวเพราะมีประสบการณ์ทางการเมือง
อย่างไรก็ดี แต่ละฝ่ายต่างอยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าด้วยกันทั้งนั้น ถามว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ต้องใช้การอธิบาย แต่ที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของศาลรธน.นั้นก็เพื่อหาทางออกให้ได้ข้อยุติเมื่อเกิดปัญหาความไม่ชัดเจน เกิดความขัดแย้ง มีความเห็นที่ต่างกันที่เกิดขึ้นทางการเมืองจึงต้องมาจบที่ศาลรธน. แต่ต้องอยู่บนหลักของความมีเหตุมีผล ซึ่งศาลรธน.นั้นพยายามที่จะดูแลและตระหนักในเรื่องเหล่านี้
พร้อมเน้นย้ำว่า ศาลรัฐธรรมนูญนั้นทำหน้าที่พิทักษ์หลักการ พิทักษ์เจตนารมย์ของรธน.เพื่อให้สังคมเดินไปข้างหน้าได้ สอดรับกับความเห็นของ ดร.ปัญญา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุเน้นย้ำว่า ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีบทบาทมีส่วนสำคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญนับตั้งแต่ปี 40 ปี 50 จนถึงปี 60 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยการพิทักษ์รัฐธรรมนูญเกิดจากหลักความสูงสุดดังกล่าว
นายคำนูณ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการพิทักษ์ตัวรัฐธรรมนูญโดยตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฎว่าจะมีความพยายามในการแก้ไขรธน.หรือ การจัดทำรธน.ฉบับใหม่ทั้งฉบับขึ้นมาทั้ง ๆ ที่ฉบับเดิมยังใช้บังคับอยู่ แม้ว่าในรธน.นั้นมีการพูดถึงการพิทักษ์รัฐธรรมนูญไว้ 2 มาตรา คือ การล้มล้างการปกครองที่มีการเขียนแตกต่างกันไปบ้าง นับตั้งแต่ปี 40, ปี 50 และปี 60 ที่มีการพิทักษ์ระบอบและพิทักษ์รัฐธรรมนูญขึ้นก็ตาม แต่ที่ผ่านมาพบว่า สามารถทำได้ 2 ครั้ง ที่เกิดขึ้นได้เป็นฉันทามติที่มาจากทุกฝ่ายทุกขั้วในขณะนั้น
"ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีความพยายามดำเนินการยกร่างรธน.ฉบับใหม่นั้นมีมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 12 ปีแล้วจนถึงปัจจุบันที่เรื่องนี้ยังในวาระการพิจารณาของตุลาการศาลรธน. เนื่องจากรธน.ปี 60 ระบุไว้ว่า ถ้าองค์กรใดที่ไม่แน่ใจในอำนาจหน้าที่ของตัวเองให้ถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งรัฐสภาที่มีความพยายามจะแก้ไขรธน.ว่า สามารถทำได้หรือไม่ จึงมีการยื่นให้ศาลรธน.วินิจฉัยถึงอำนาจหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งต้องรออีกประมาณ 3-4 เดือน แต่ก็ใช่ แนวคิดนี้ไม่ประสบความสำเร็จ นับเป็นความท้าทายว่า จะทำสำเร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่ ถามว่าจะจบหรือจะไปต่อต้องรอดู อย่างไรก็ดี เชื่อว่า ตุลาการศาลต้องมีการชั่งน้ำหนักและวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างสมเหตุสมผล สำหรับเรื่องนี้ต้องรอดูกันต่อไป เชื่อว่า การเมืองไทยจะต้องอยู่กับเรื่องนี้ไปอีกอย่างน้อยเป็นปี ๆ
โจทย์ท้าทาย ต้องทำให้ประชาธิปไตยปกป้องพิทักษ์ตนเองได้
รศ.ดร. ภูมิ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ กล่าวถึงกลไกในการพิทักษ์รธน.ของประเทศไทยว่า มีลักษณะในรูปแบบของการให้ศาลพิทักษ์รธน.ซึ่งเป็นองค์กรกลางที่เชื่อว่าจะเกิดความสมดุลแต่ก็มีคำถามจากสังคมว่า องค์ประกอบของตุลาการศาลรธน.และกลไกที่จะนำมาใช้นั้นจะมาจากไหน เป็นต้น ซึ่งมีความแตกต่างในแต่ละช่วงของการมีรัฐธรรมนูญในช่วงเวลานั้น อาทิ เรื่องของวาระการดำรงตำแหน่ง ที่มาของตุลาการศาล รวมถึงจำนวนของตุลาการศาล เป็นต้น สำหรับรธน.ปี 60 นั้น มีคำถามจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการใช้อำนาจของศาลรธน. เมื่อเทียบกับรธน.ฉบับอื่นที่ผ่านมา หากย้อนกลับไปในอดีตหลักการของศาลรธน.ควรเป็นเครื่องมือออกแบบโครงสร้างอำนาจทางการเมือง รวมถึงการถูกมองว่าเป็นองคาพยพที่ไปตอบสนองในเรื่องเหล่านี้ด้วยหรือไม่
สำหรับงานวิจัย พบว่า มีสามมิติด้วยกัน มิติแรก คือ กระบวนการคัดเลือกกระบวนการตุลาการศาลรธน. มิติที่สอง คือ อำนาจหน้าที่ของศาลรธน.ที่มีการขยายมากขึ้นหรือไม่ มิติที่สาม คือ การตีความของศาลรธน.นั้นเป็นการขยายอำนาจให้กับองค์กรตัวเองหรือไม่ จึงนำไปสู่การขัดกันของการแบ่งแยกอำนาจหรือไม่ ถัดมาคือ การตรวจสอบศาลรธน.ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งต้องมีการมาพูดในเรื่องเหล่านี้กันว่า จะสามารถทำได้ตรงไหน รวมถึงการถอดถอนตุลาการศาลรธน.จะทำได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากมองจากฝั่งประชาชนนั้นเชื่อว่า บทบาทของศาลรธน.ที่ดีก็มีมากและไม่ควรมองเพียงมิติเดียว คือ มิติทางการเมืองแต่ต้องมองในมิติอื่น ๆ ด้วย อาทิ เรื่องของสิทธิเสรีภาพของประชนชน เช่น กรณีคำวินิจฉัยกรณีที่การประปาส่วนภุมิภาควางท่อแล้วล้ำไปในพื้นที่ของประชาชน เป็นต้น การมิติในการตีความนปัจจุบันนั้นเดิมจะยึดตามตัวบทกฎหมายแต่ปัจจุบันนั้นจะยึดเพียงตัวบทกฎหมายเท่านั้นไม่ได้แต่ต้องประกอบกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ศาลรธน.ที่ถูกนำไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองมากยิ่งขึ้นนับเป็นความท้าทายในปัจจุบัน
รศ.ดร.มานิตย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการทำหน้าที่ของศาลรธน.ในมุมของการพิทักษ์รัฐธรรมนูญว่า ภาพรวมในมุมกว้างของศาลรธน.ในการพิทักษ์รธน.ไว้ซึ่งความเป็นรธน.สูงสุดนั้นถือว่าในรอบยี่สิบหกปีถือว่าดีมาก ผลอยู่ในระดับเอ ถือว่าประสบความสำเร็จในทิศทางที่ดี แต่ในมุมมองเซฟการ์ด คือ ประชาธิปไตยในการปกป้องตนเองได้นั้นต่อให้เขียนอย่างไรก็ไม่สามารถปกป้องต่อการรัฐประหารได้ ไม่สามารถที่จะปกป้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ ที่น่าสนใจ คือ ต้องทำให้ประชาธิปไตยปกป้อง พิทักษ์ตนเองได้ คือ ไม่ให้คนใช้สิทธิเสรีภาพเข้าสู่อำนาจในการแก้ไขรธน.ได้
ต่อข้อซักถามที่ว่า ศาลรธน.สั่งยุบพรรคจะช่วยแก้ปัญหาทางการเมืองได้หรือไม่นั้น มองว่า ต้องหันมาทบทวนในเรื่องนี้แต่ควรไปลงโทษที่ตัวบุคคล วันนี้แม้ว่า จะยุบพรรคก็ไม่หายไป ในความเป็นจริงควรดูแลทางด้านกลไกของพรรคการเมืองมากกว่า ถ้าคนผิดไปว่ากันที่ตัวคน เชื่อว่า การยุบพรรคไม่สามารถแก้ไขปัญหาของการเมืองไทยได้แต่ควรไปสู่การลงโทษบุคคลผู้ที่กระทำผิดเพราะเมืองไทยได้พิสูจน์มาแล้วว่า การยุบพรรคใช้ไม่ได้ผล