"นครินทร์"ยันศาลรธน.ไม่มีธงพิจารณาคดี ผลออกได้แค่ขัดหรือไม่ขัดรธน.

10 เม.ย. 2567 | 07:24 น.
อัปเดตล่าสุด :10 เม.ย. 2567 | 07:28 น.

"นครินทร์"ยันศาลรธน.ไม่มีธงพิจารณาคดี ชี้ออกได้แค่ขัดหรือไม่ขัดรธน. ไม่มีตรงกลาง ยินดีรับเสียงวิจารณ์โดยสุจริต เผยคำร้องสภาขอตีความประชามติแก้รธน.ถึงมือแล้ว เตรียมถก 17 เม.ย.นี้

วันนี้ (10 เม.ย. 67) นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดงานครบรอบ 26 ปี ศาลรัฐธรรมนูญว่า วันนี้เป็นการประชุมทางวิชาการที่ได้มีการเตรียมการมาสักระยะหนึ่งแล้ว ช่วงเช้าได้รับเกียรติจากประธานศาลรัฐธรรมนูญจอร์เจีย ตอนบ่ายก็จะเป็นการอภิปราย 

ส่วนการอภิปรายในหัวข้อศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เราเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญบรรลุวัตถุประสงค์ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญพอสมควร คำว่า พิทักษ์รัฐธรรมนูญปัญหาของประเทศไทย คือ เรามีรัฐธรรมนูญหลายฉบับนับตั้งแต่ 2540 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งอยากให้สังเกตว่า แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่โดยภาพรวมโครงสร้างทางการเมืองไม่ได้แตกต่างจากเดิมมากนัก โดยยังมีการปกครองระบอบรัฐสภา เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจบางอย่างหายไปบางอย่างเพิ่มขึ้น เช่น การให้ประชาชนยื่นร้องเรียนตรงมายังศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีมากพอสมควร หรือที่หายไป เช่น อำนาจการยุบพรรคอันเนื่องมาจากพรรคการเมือง ไม่ยื่นบัญชีค่าใช้จ่ายของพรรค 

ส่วนที่การวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมค่อนข้างมาก นายนครินทร์ กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่ดี แต่น่าคิดว่าการวิพากษ์วิจารณ์นั้น ทำให้บ้านเมืองสงบ คือ เป็นที่ยอมรับหรือไม่ เดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ 

“ปัญหาอยู่ตรงนี้ไม่ได้อยู่ตรงที่การวิพากษ์วิจารณ์ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งผมก็ยินดีที่จะรับคำวิจารณ์จากทั้งนักวิชาการพรรคการเมือง องค์กรต่างๆ การสัมมนาวันนี้เราก็เชิญพรรคการเมืองมาร่วมหลายพรรค สามารถวิจารณ์ได้เต็มที่ แต่ต้องวิจารณ์โดยสุจริตไม่ใช้คำหยาบคาย ดูถูกเหยียดหยามองค์กรตุลาการเพราะมีโทษทางกฎหมาย”

ผู้สื่อข่าวถามว่าการวิพากษ์วิจารณ์ก่อให้เกิดแรงกระแทก ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ก็เข้าใจ แต่ในแง่หนึ่งแสดงให้เห็นว่า ศาลฯ เป็นที่ยอมรับ เพราะข้อขัดแย้งทางการเมืองมันไม่ได้ลดน้อยไป แต่ปัญหา คือ เมื่อมีข้อขัดแย้งทางการเมืองแล้วจะแก้ไขปัญหาอย่างไร 

“ความจริงการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ส่วนหนึ่งมาจากการเจรจาของพรรคการเมือง และองค์กรต่างๆ ถ้าตกลงกันได้ก็ไม่ต้องมาศาล จบที่สภาดีกว่า แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้แล้ว แต่ยื่นมาศาล ก็แสดงว่าเห็นศาลเป็นที่พึ่ง ซึ่งก็จะให้โต้แย้งกันและศาลจะรับฟังสองฝ่าย และพิจารณาทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายก่อนที่จะตัดสิน”

ส่วนที่บางคนมองว่าการตัดสินหลายครั้งมีธงนั้น ประธานศาลรัฐธรรนูญ เห็นว่า เรื่องที่ขึ้นมาศาลจะออกได้เพียง 2 หน้า คือซ้าย กับ ขวา เท่านั้น ไม่มีตรงกลาง ตนเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนลูกศิษย์มันตอบได้หลายทาง ซึ่งก็ถูกหมด ใครให้เหตุผลดีก็ได้คะแนนไป แต่มาศาลออกได้แค่ด้านซ้าย ด้านขวาเท่านั้น คือ ขัดรัฐธรรมนูญ หรือ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ 

“เราอาจคิดว่ามันเป็นธง คำว่า "ธง" เป็นกิจกรรมการเรียนของคณะนิติศาสตร์ เวลาเรียนวิชากฎหมายก็ต้องมีธงซึ่งต้องไปอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาเก่าๆ คำตอบของครูบาอาจารย์เก่าๆ แล้วเอามาเป็นธง ว่าข้อกฎหมายนี้จะตอบอย่างไร แต่สำหรับในศาลรัฐธรรมนูญไม่มีธง เราโต้เถียงกันมากพอสมควรและต้องดีใจว่าเรามีตุลาการใหม่เพิ่มเข้ามาทั้ง นายอุดม รัฐอมฤตและ นายสุเมธ รอยเจริญกุล ซึ่งก็จะทำให้ความเห็นทิศทางบางอย่างเปลี่ยนแปลงไปได้”

เมื่อถามว่าสภามีมติยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องการจัดทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง  นายนครินทร์ กล่าวว่า ยื่นมาแล้วและจะพิจารณาวันที่ 17 เม.ย.นี้