ศาลรธน.ตีตกคำร้องรัฐสภาขอวินิจฉัยต้องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญกี่ครั้ง

17 เม.ย. 2567 | 07:19 น.

ศาลรธน.มติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ตีตกคำร้องรัฐสภาขอวินิจฉัยต้องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญกี่ครั้ง ชี้เคยวินิจฉัยโดยละเอียดชัดเจนแล้ว ไม่ใช่ปัญหาอำนาจหน้าที่รัฐสภา

วันนี้ (17 เม.ย. 67) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 สั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ประธานรัฐสภามีหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 รวม 2 ประเด็น คือ

1. รัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติ ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

2. ในกรณีที่รัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ การจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะต้องกระทำในขั้นตอนใด 

โดยก่อนการพิจารณา เนื่องจาก นายสุเมธ รอยกุลเจริญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อยู่ระหว่างรอการ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่  และ นายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 37 เนื่องจากเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญของศาลรัฐธรรมนูญให้ความเห็นในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดให้ถอนตัวจากการพิจารณาคดีได้ 

องค์คณะตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญ คดีนี้จึงประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 7คน ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 52

ศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบแล้วเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ และ อำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือ องค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210วรรคหนึ่ง (2) และพ.ร.ป.ว่าด้วย วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44 กรณีต้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับ หน้าที่ และ อำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว 

การบรรจุวาระการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นหน้าที่ และ อำนาจของประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 119 

กรณีไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา และคำร้องมีสาระสำคัญเป็นเพียงข้อสงสัย และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเนื้อหาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย โดยละเอียดและชัดเจนแล้ว ไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องด้วยเงื่อนไข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของ ศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญได้จัดอภิปรายเนื่องในโอกาส 26 ปีแห่งการสถาปนาศาลรัฐธรรมนูญ หัวข้อ "ศาลรัฐธรรมนูญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ" 

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญมีกลไกพิทักษ์ตัวเองอยู่แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใดที่กำหนดให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับเดิมมีผลบังคับใช้อยู่ 

แต่ประเทศไทยก็ยังสามารถทำได้ 2 ครั้ง ในปี 2489 และ 2540 ซึ่งขณะนี้ตนยังมองไม่ออกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับจะสำเร็จได้ในปีไหน และยังไม่มั่นใจว่า รัฐสภาจะสามารถให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยเพียงว่า รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ 

ดังนั้น ประเด็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะยังเป็นปัญหาในสังคมอีกระยะหนึ่ง และการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ก็ยังเป็นบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป