เช้าวันนี้ (20 เม.ย.67) นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ขอแสดงความไว้อาลัย!!! นักการเมืองอาวุโส 1 ในขุนพลของป๋าเปรม ท่านทวี ไกรคุปต์ ที่จากไปอย่างสงบเมื่อคืนนี้
คุณเอ๋ ปรีณา ไกรคุปต์ ได้เขียนมาบอกเมื่อสองทุ่มเศษเพราะทราบว่าคุ้นเคยนับถือกันมานานแล้ว
เป็นการจากไปในเวลาที่ดาวพฤหัสย้ายราศีเข้าทับลัคนาดวงเมืองตามที่พยากรณ์เมื่อวานนี้ครับ ขอแสดงความเสียใจด้วยครับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทวี ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบที่โรงพยาบาลศิริราช หลังล้มศีรษะฟาดพื้นที่บ้าน เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2567 ครอบครัวได้พาเข้ารักษา และเสียชีวิตลงในวันที่ 11 เม.ย. ซึ่งขณะนั้นมีนักข่าวถามถึงการเสียชีวิตของพ่อ แต่ น.ส.ปารีณา ยังไม่เปิดเผยขอรอเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากมีคุณแม่กำลังป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอีกคน
สำหรับ ทวี ไกรคุปต์ เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2482 อายุย่าง 85 ปี
เป็นบุตรของนายแสวง กับ นางทุเรียน ไกรคุปต์ สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอำนวยศิลป์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สมรสกับ นางสิริบังอร ไกรคุปต์ อดีตผู้พิพากษาสมทบ มีบุตร-ธิดา 2 คน คือ นายสีหเดช ไกรคุปต์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางโตนด และ นางสาวปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี 4 สมัย
เส้นทางการเมือง
นายทวี เข้าสู่งานการเมือง ด้วยการเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในปี 2518 ก่อนที่จะมาลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ราชบุรี และได้รับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ในปี 2522 และได้รับเลือกตั้งเรื่อยมา จนถึงปี 2539
ส่วนการเลือกตั้งในปี 2544 ได้ลงสมัครในนามพรรคไทยรักไทย แต่แพ้ให้กับ นางประไพพรรณ เส็งประเสริฐ จากพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาจึงวางมือ โดยให้นางปารีณา บุตรสาวลงสมัครรับเลือกตั้งแทน
นายทวี ไกรคุปต์ เคยได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาล พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อปี พ.ศ. 2524 และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เมื่อปี พ.ศ. 2535
ปี 2561 ทวี ไกรคุปต์ ได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พร้อมกับนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์
ทั้งนี้ ทวี ไกรคุปต์ ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ทั้งหมด 7 สมัย คือ
-ปี 2522 เป็นส.ส.ราชบุรี สังกัดพรรคสยามประชาธิปไตย
-ปี 2526 เป็นส.ส.ราชบุรี สังกัดพรรคชาติไทย
-ปี 2529 เป็นส.ส.ราชบุรี สังกัดพรรคกิจสังคม
-ปี 2531 เป็นส.ส.ราชบุรี สังกัดพรรคกิจสังคม
-ปี 2535 เป็นส.ส.ราชบุรี สังกัดพรรคความหวังใหม่
-ปี 2538 เป็นส.ส.ราชบุรี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
-ปี 2539 เป็นส.ส.ราชบุรี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
* ขอบคุณข้อมูลประวัติจากวิกิพีเดีย