หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 67 สั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ประธานรัฐสภามีหนังสือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 รวม 2 ประเด็น คือ
1. รัฐสภาจะบรรจุวาระและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ โดยยังไม่มีผลการออกเสียงประชามติ ว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2. ในกรณีที่รัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่มีบทบัญญัติให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ การจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จะต้องกระทำในขั้นตอนใด
ต่อมา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรเปิดเผยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ปลอดภัยเป็นไปตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ระบุไว้ชัดเจนว่า
รัฐบาลต้องดำเนินการทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องถามประชาชน 3 รอบ ถึงจะปลอดภัย แต่เสียเวลาและงบประมาณ นำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลพยายามถ่วงเวลา และเป็นการดึงศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นคู่กรณีด้วยหรือไม่
ฐานเศรษฐกิจ สัมภาษณ์พิเศษ นายวัฒนา เตียงกูล คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ และที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย ได้เปิดเผยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วน ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 และได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมครม.นัดแรก
โดยที่ประชุมครมได้มีมติมอบหมายให้รองนายกฯ ภูมิธรรม ไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ "เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560" ลงนามโดย นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 พร้อมทั้ง ตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยทันที ยืนยันว่าไม่ได้มีการ เตะถ่วงดึงเวลาแต่อย่างใด
สำหรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เป็นที่มาให้รัฐบาลต้องศึกษาว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง จึงไม่ขัดกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ นับได้ว่า ต้องยึดถือแนวทางการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยรายละเอียด ของการทำประชามติในแต่ละครั้ง เบื้องต้น ในครั้งแรก ทำก่อนที่ จะ มีการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติม โดยจะมีการถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ที่จะ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกระบวนการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ(สสร.)
การทำประชามติครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นหลังจากมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม โดยมีบทบัญญัติในหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าไป ส่วนที่มาของสสร. จะถูกบรรจุไว้ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ หากผ่านสภาทั้ง 3 วาระ จึงมีการทำประชามติครั้งที่ 2 ขึ้น ว่าประชาชนเห็นชอบ กับร่างนี้หรือไม่
หากประชาชนเห็นชอบ ในประชามติครั้งที่ 2 จึงจะนำไปสู่การเลือกตั้งสสร. เพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะไม่มีการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 เมื่อคณะกรรมการ หรือกรรมาธิการ ที่สสร.ตั้งขึ้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ เพียงครั้งเดียว หากผ่านสภา จึงจะนำไปสู่การทำประชามติครั้งที่ 3
เมื่อประชาชนเห็นชอบในการทำประชามติครั้งที่ 3 แล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อรอการโปรดเกล้าฯ และประกาศใช้ต่อไป
โดยส่วนตัวมีความเห็นว่าขณะนี้หลายฝ่าย มีความห่วงใยและกังวลเกี่ยวกับรายละเอียด เงื่อนไข ของการทำประชามติ ในมาตรา 13 ที่กำหนดว่า จะต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่ง ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และผลของการทำประชามตินั้น จะต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์จึงจะถือว่าได้ข้อยุติ
เงื่อนไขดังกล่าวจึงถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย จึงนำมาสู่ความคิดเห็น ของพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค รวมทั้งพรรคก้าวไกลว่า ควรต้องมีการแก้ไขกฎหมายประชามติ เพื่อไม่ให้การทำประชามติสูญเปล่า โดยอาจแก้ไขให้เรียบร้อย ก่อนมีมติให้ออกเสียงประชามติ หรืออาจทำคู่ขนานกันไปก็ได้
สำหรับการแก้ไขกฎหมายประชามตินั้น ขณะนี้ได้มีพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 พรรค เสนอร่างแก้ไขเข้าไป ในสภาแล้ว รอเพียงการบรรจุเข้าสู่วาระของที่ประชุมสภา ซึ่งต้องรอการเปิดสมัยประชุมหน้า แต่หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนก็สามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาได้ และสามารถทำโดยรวดเร็ว โดยเมื่อผ่านวาระแรก ก็ให้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาแล้ว พิจารณาวาระ 2-3 ต่อเนื่องได้เลย
หรืออาจทำควบคู่ไปเลยกับการทำประชามติก็ได้ เนื่องจากการทำประชามตินั้น หลังจากประกาศมติ ครม. ให้ทำประชามติลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ยังมีเวลาอีก 90 -120 วัน ที่จะต้องจัดให้มีดำเนินการทำประชามติขึ้น ช่วงเวลาระหว่างนี้ สามารถเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมายประชามติควบคู่ไปด้วยได้
แต่จะมีความเสี่ยงในกรณีที่มีผู้ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ และหากศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลานานในการวินิจฉัย ก็จะทำให้ต้องใช้กฎหมายประชามติฉบับเดิมในการออกเสียงประชามติ
ทั้งนี้นายภูมิธรรม ได้เปิดเผยว่า จะมีการนำเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่ที่ประชุม ครม. ในสัปดาห์หน้า