KEY
POINTS
7 เดือนของการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ตั้งหลักด้วยการปรับ “ครม.เศรษฐา 1/1” ก่อนเดินหน้าลุยงานหนักในช่วง "ครึ่งหลัง" ของปี 67
การ “เสริมทัพ” ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน ได้แก่ นายพิชิต ชื่นบาน นายจักรพงษ์ แสงมณี และ น.ส.จิราพร สินธุไพร ล้วนเป็น “คนใกล้ชิด” ของตระกูลชินวัตร และ “คนไว้ใจ” ของอดีตซีอีโอแสนสิริ
"เศรษฐา" ปักหมุดปฏิทินเดือนพฤษภาคม 2567 จัดตารางลงพื้นที่ 6 จังหวัด
ปิดท้ายด้วยการประชุม “ครม.สัญจร” ระหว่างวันที่ 13 – 14 พฤษภาคม 2567 ที่จังหวัดเพชรบุรี
ขณะที่โปรแกรมเดินสายต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2567 เดินทางไปฝรั่งเศสและอิตาลี และ วันที่ 22-24 พฤษภาคม 2567 เดินทางไปญี่ปุ่น
ย้อนกลับไป "รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร" ถือเป็น "ต้นแบบ" ของการลงพื้นที่พบปะประชาชนชนิด ตาดูดาว-เท้าติดดิน ค่ำไหนนอนนั่น ภายใต้ชื่อ “โครงการที่นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมสอบถามปัญหาของประชาชน เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล หรือ “ทัวร์นกขมิ้น”
“สุรนันทน์ เวชชาชีวะ” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณเล่าที่มา-ที่ไปของคำว่า “ทัวร์นกขมิ้น” ที่สื่อตั้งให้
“คุณทักษิณเป็นคนพูดว่าเหมือนนกขมิ้น ค่ำไหนนอนนั่น ไปตรวจราชการค่ำไหนนอนนั่น จึงเรียกว่า ทัวร์นกขมิ้นมาตั้งแต่สมัยนั้น”
ส่วน “แก่นแท้” ของ “ทัวร์นกขมิ้น” จะเหมือนใน "ยุครัฐบาลทักษิณ" หรือไม่ “สุรนันทน์” ตำนานที่ยังมีชีวิตบอกว่า เหมือนกัน แต่นายทักษิณทำอะไรอีกหลายอย่าง เช่น นอนอยู่ร้อยเอ็ด เข้าถึงประชาชน เป็นรูปแบบความสำเร็จที่สามารถนำมาใช้ได้ในปัจจุบัน
"เป็นรูปแบบที่ประสบความสำเร็จในยุคคุณทักษิณ ไม่ว่าจะรัฐบาลยุคไหนก็ตาม แม้กระทั่งในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ไปต่างจังหวัด ทุกคนมีแฟนคลับ ไปรับรู้ปัญหาของจังหวัดได้เยอะ อาจแก้ไม่ได้ทันที แต่มีการสั่งการ ถ้ามีครม.สัญจรก็สามารถรวบรวมโครงการต่าง ๆ มาเข้าที่ประชุมและหลายโครงการเอาไปพัฒนาตามคำขอของจังหวัดได้"
“แม้ระบบการสื่อสารในปัจจุบันจะแตกต่างจากอดีตมาก แต่การได้เจอตัวเป็น ๆ ของคน ความรู้สึกมันผิดกัน นายกรัฐมนตรีและคนรุ่นใหม่ในพรรคเพื่อไทยหลายคนที่ไม่ได้เป็น สส.ควรได้สัมผัสประสบการณ์นี้”
ที่ผ่านมาตั้งแต่นายเศรษฐาเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่ครั้งแรก แต่เพราะสาเหตุใดคำว่า “ทัวร์นกขมิ้น” จึงถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นพูดถึงขึ้นมามากขึ้นอีกครั้ง
“หนึ่ง เป็นปรากฏการณ์ สอง ทำให้ภาพของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ไปด้วยติดดิน ขณะเดียวกันในเชิงสาระ การได้ไปพูดจาตัวต่อตัว ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ข้าราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้รับรู้มุมมองหนึ่ง เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไปมาก ๆ ฉาบฉวย
หรือบางจังหวะ ระบบจังหวัดจัดฉาก เกณฑ์คน ทำให้ไม่ได้เห็นของจริง ในสมัยคุณทักษิณก็มี แต่ก็ลุยไปถึงหมู่บ้านเองก็มี นอนค้างก็มี นอนวัดก็มี วันดีคืนดีคุณเศรษฐาก็อาจจะนอนวัดก็ทำได้ เพราะถึงลูกถึงคน”
สมัยรัฐบาลทักษิณ “สุรนันทน์” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในยุคนั้นเป็นประธานการประชุมเพื่อสรุปผลการตรวจติดตามโครงการ “ทัวร์นกขมิ้น” รวม 24 หน่วยงาน 180 โครงการ 8,913 ล้านบาท เข้าที่ครม.ในเวลาต่อมา
“ผมกลับมานอนคิดแล้ว พูดตรง ๆ บางทีไม่ได้ เพราะบางโครงการถูกยัดเข้ามา ตอนนั้นคุณทักษิณจะส่งรัฐมนตรีออกไปตามสายต่างๆ ในพื้นที่ตามต่างจังหวัด แบ่งงานกันดูและรวบรวมกลับมา โดยมีสภาพัฒน์และสำนักงบประมาณเป็นตัวกลางเอาโครงการมาดูว่า โครงการนี้ติดอะไร
หรือเคยของบประมาณไว้ไหม ซ้ำซ้อนหรือไม่ แล้วรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและผมช่วยสกรีนงาน โครงการไหนที่ผ่านการประเมินของหน่วยงานราชการมาและเสนอครม.อนุมัติได้ มีงบประมาณเพียงพอ ถ้าทำได้ก็เป็นประโยชน์กับประชาชน”
อย่างไรก็ตามปัญหาปัจจุบันใหญ่ รุกเร้า หมักหมม ดังนั้น นายกรัฐมนตรีต้องไม่อยู่กับการลงพื้นที่มากเกินไป เพราะวันนี้โจทย์อยู่ที่ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ต้องมีเวลานั่งประชุมวางยุทธศาสตร์ประเทศระยะยาว ไม่ใช่แค่ประชานิยม แจกเงิน 10,000 บาท
“ประชาชนคาดหวังว่า นายกรัฐมนตรีกับรัฐบาลต้องมานั่งคุยกันว่า โครงสร้างเศรษฐกิจที่จะไปต่อสู้ในยุคสมัยใหม่ คือ อะไร สามารถแข่งขันได้ คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือ โครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีมิติของความมั่นคงเข้ามา”
มิติในยุคของรัฐบาลทักษิณ ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 40 เสียงของประชาชนมีส่วนร่วมมาก รัฐบาลต้องให้ประชาชนจับต้องได้ ซึ่งต้องยอมรับว่า นายทักษิณทำให้ไทยรักไทยเป็นของประชาชนที่ประชาชนจับต้องได้ นายกรัฐมนตรีจับต้องได้
“นายกฯเศรษฐาควรจะลงไปเจอประชาชน แต่ควรใช้เวลาส่วนหนึ่งที่เป็นส่วนใหญ่ นั่งนิ่งๆ ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนประเทศในเชิงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง”
นอกจากนี้ "ทีมงานเศรษฐา" ยังออกแบบผังรายการ “นายกฯเศรษฐา พบประชาชน” ผ่านสื่อของรัฐทุกแพลตฟอร์ม โดยมีแม่ข่ายหลัก-รองอย่างช่อง NBT และ MCOT เริ่มออกอากาศครั้งแรก วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 รูปแบบรายการเป็นการพูดคุยสบาย ๆ โดยมี "พิธีกรคนดัง" แวะเวียนกันมาดำเนินรายการ-ป้อนคำถาม
สำหรับกรมประชาสัมพันธ์ ได้รับงบประมาณในปี 67 รวมจำนวนทั้งสิ้น 2,414,341,800 บาท เป็น “งบรายจ่ายอื่น” จำนวนรวมทั้งสิ้น 15,339,900 บาท ประกอบด้วย
โครงการข้อมูลข่าวสารนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ จำนวน 634,440,000 บาท แบ่งออกเป็น
เป็นการเติมข่าวสารของรัฐบาล หลังจากก่อนหน้านี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ว่า การเดินทางไปต่างประเทศของนายเศรษฐาที่ผ่านมา 6 เดือน 14 ประเทศ ประชาชนได้อะไร
จนรัฐบาลต้องออก “แท็บลอยด์” ภายใต้หัวข้อ “GNITE THAILAND Bulletin” เพื่อประชาสัมพันธ์การเดินทางของนายเศรษฐา 6 เดือน 14 ประเทศ ภารกิจต่างแดน เปิดประตูประเทศไทย ไปสู่เวทีโลก
ขณะที่ “งบประชาสัมพันธ์เชิงรุก” ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประกาศจัดซื้อจัดจ้างที่มิใช่งานก่อสร้าง โครงการ จ้างทำ LINE Official Account เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารรัฐบาลเชิงรุก วงเงิน 2,467,600 บาท
โดยเป็นค่าบริหารจัดการ LINE Official Account จำนวน 5 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2567) แบ่งออกเป็น
เช่นเดียวกัน "รัฐบาลทักษิณ" ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่ใช้ "สื่อของรัฐ" ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากที่สุด ผ่านรายการ “นายกฯทักษิณ คุยกับประชาชน” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทางคลื่น F.M.92.5 เป็นประจำทุกเช้าวันเสาร์ เวลา 08.00 น. – 08.30 น. ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2544 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2544
โดยมี “ยงยุทธ ติยะไพรัช” เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น
แม้กระทั่ง "รัฐบาลยิ่งลักษณ์" ก็มีรายการ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน” ออกอากาสทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ทุกวันเสาร์ เวลา 08.00-09.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2554 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2556
ในช่วงแรก “สุรนันทน์” เป็นพิธีกร ต่อมา “ธีรัตถ์ รัตนเสรี” โฆษกรัฐบาล และ “ดวงพร อัศววิไล” มาเป็นพิธีกรสมทบตามลำดับ ทางช่อง สทท. หรือ ช่อง 11 เดิม โดยมีรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเวียนมาออกรายการ
“คุณยิ่งลักษณ์พูดคนเดียวไม่เก่งเท่าคุณทักษิณ ในที่สุดเราใช้สไตล์ที่นายกฯหลายคนใช้ คือ มีคนมาสัมภาษณ์ คุณยิ่งลักษณ์ก็เล่าว่าไปทำอะไรมาบ้าง แต่ยุคนี้พูดเป็นชั่วโมงคนไม่ฟัง อย่างมากที่สุด 15 นาที อาจจะต้องเปลี่ยนรูปแบบ ขึ้นอยู่กับบุคคลิกของแต่ละคน”
“นายกฯเศรษฐาต้องให้ทีมงานศึกษาดี ๆ ให้คนสนใจ ประเด็นสั้น ๆ พูดตรงประเด็น มีสาระ และต้องมี เพราะเหมือนกับเป็นการรายงานประชาชนว่าไปทำอะไรมาบ้าง”นายสุรนันทน์ทิ้งท้าย