วันนี้(18 พ.ค.67) ที่สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างการปฏิบัติภารกิจ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ 40 วุฒิสมาชิก (ส.ว.) เข้าชื่อยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ของ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หลังมีพฤติกรรมเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ( 5)
โดยนายกรัฐมนตรีย้อนถามกลับว่า ส.ว.ยังไม่หมดอายุใช่หรือไม่ เมื่อผู้สื่อข่าวระบุว่ายังไม่หมด แต่ก็ใกล้แล้วต้องรอได้ส.ว.ชุดใหม่มาก่อน ชุดเก่าถึงจะพ้นหน้าที่ ทำให้ นายเศรษฐา ถึงกับร้องอ๋อ
พร้อมกล่าวว่า "ผมคิดว่าท่านก็ต้องทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะถือเป็นหน้าที่ของ ส.ว. ส่วนตัวของผมก็ต้องพิสูจน์ ในเรื่องที่ผมทำไปว่าเป็นเรื่องที่ชอบธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย และผมก็เคยบอกไปแล้วว่าก่อนที่จะมีการแต่งตั้ง ให้นายพิชิต ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการสอบถามไปทางคณะกรรมการกฤษฎีกา และผมมั่นใจว่า จะสามารถตอบคำถามได้ เพราะอยู่บนหลักการของความถูกต้อง
แต่แน่นอนว่าฝ่ายตรวจสอบก็มีหน้าที่ ที่จะตรวจสอบ และผมเองก็ต้องยอมรับ และต้องมานั่งดูว่ามีเหตุและผลหรือเปล่า ซึ่งเป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ผมขออนุญาตไม่เข้าไปพูด เพราะถือว่าเป็นไปตามกลไกการปกครองของประเทศไทยอยู่แล้ว“
ผู้สื่อข่าวถามว่าทางส.ว.ระบุนายกรัฐมนตรี เมินเสียงคัดค้านในการแต่งตั้ง นายพิชิต นายเศรษฐา ตอบว่า “ธรรมดาในการที่ผมจะแต่งตั้งรัฐมนตรี ผมไม่ได้ถามทางกฤษฎีกาในทุกๆ กรณีไป แต่กรณีของนายพิชิต ยืนยันว่าผมไม่ได้เมิน และยืนยันว่าทุกๆ เสียงที่มีการท้วงติงเข้ามาได้พิจารณามาโดยตลอด
“ตรงนี้ผมมั่นใจ กรณีของนายพิชิต ผมก็ได้ทำ โดยได้ถามไปยังกฤษฎีกาไปโดยเฉพาะเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่สมควรจะต้องทำอยู่แล้ว”
ทั้งนี้ นายเศรษฐา ย้ำว่า ไม่เคยเมินเสียงคัดค้าน และไม่เคยที่จะไม่ให้ความสำคัญ หรือไม่รับฟังเสียงท้วงติง อย่างที่ได้บอกมาตลอดเวลาว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญ
ผู้สื่อข่าวฐานเศรษฐกิจรายงานว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมพิจารณาคำร้องของบรรดาสมาชิกวุฒิสมาชิก(ส.ว.) 40 คน ที่ได้ร่วมกันเข้าชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความสิ้นสุดลงในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของนายพิชิต ชื่นบาน หลังมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นว่า ด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง