สองคนยลตามช่องเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญมาตรา 160 พิชิต-เศรษฐา มาตรฐานต้องสูง

20 พ.ค. 2567 | 07:08 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2567 | 07:28 น.

สังศิต พิริยะรังสรรค์ 1 ใน 40 สว. เปิดใจ ลงชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคุณสมบัติ พิชิต ชื่นบาน ให้เป็น "บรรทัดฐาน" รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กางเจตนารมณ์มาตรา 160 รัฐมนตรี-นายกรัฐมนตรี "มาตรฐานต้องสูง"

ปมคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ "พิชิต ชื่นบาน" รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลายเป็น "ระเบิดเวลา" ของ "รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน" เพราะหากกระเทือนไปถึงคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา "ครม.เศรษฐา" ต้อง "พ้นทั้งคณะ" จนมีข่าวลือแพร่สะพัดว่านายพิชิตจะ "พลีชีพ" ด้วยการลาออก

ปฐมเหตุจาก 40 สว.ยื่นหนังสือผ่าน "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธานวุฒิสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา  ผู้ถูกร้องที่ 1 และ นายพิชิต  ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1(4) (5) หรือไม่ 

"ด้วยปรากฏว่า นายเศรษฐาได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยนายเศรษฐา ทั้งๆ ที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิตขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 160 (4) และ (5)"คำร้อง 40 สว.ระบุ

กางเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ม.160 

รัฐธรรมนูญ หมวด 8 คณะรัฐมนตรี มาตรา 160 กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี 
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี 
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 
(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 
(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท 
(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง 

ขณะที่ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่มี "มีชัย ฤชุพันธุ์" เป็นประธาน ระบุคำอธิบายประกอบว่า
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดให้มีมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 35 ที่กำหนดให้การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่จะต้องครอบคลุมในเรื่องต่าง ๆ

โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตและการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ จึงได้มีการกำหนดให้รัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นเท่ากับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามอื่น ๆ เพิ่มเติมขึ้น เช่น ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

รวมทั้งต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิด ลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

รัฐมนตรี-นายกรัฐมนตรีต้องมีมาตรฐานสูง 

“รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก" อดีตที่ปรึกษากรธ.ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) ว่า คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไล่ตั้งแต่ชั้นต้น-ขั้นต่ำ คือ สส. เมื่อนำไปใช้กับรัฐมนตรีจะสูงขึ้นไปอีก และเมื่อไปใช้กับนายกรัฐมนตรีจะสูงที่สุด 

“รัฐธรรมนูญมาตรา 160 คนที่จะเป็นรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีตัววัดว่า ความซื่อสัตย์สุจริตแค่ไหน เรื่องจริยธรรม คนที่จะมาเป็นผู้แทนของประชาชนต้องมีจริยธรรมสูง ต้องกำหนดเกณฑ์ระดับห้ามละเมิดจริยธรรมร้ายแรง ไม่ใช่จริยธรรมทั่วไป”

“ในตอนนั้นกรรมการ่างรัฐธรรมนูญก็คุยกัน ผมนั่งเป็นที่ปรึกษา ผมก็ฟังท่านสนทนากัน มันก็มีนัยยะว่า จะทำอย่างไรดี ในเมื่อบ้านเมืองนี้แทบจะไม่มีเลย นักการเมืองที่ประชาชนจะบอกว่า คนนี้ซื่อสัตย์ คนนี้สุจริต”

ดังนั้น เป็นที่ประจักษ์ก็เหมือนกับเทียบกับมีคนกระทำความผิด หรือเรียกว่า “ประจักษ์พยาน” อาจจะไม่สามารถบอกได้ชัดว่าสุจริตหรือไม่ แต่ที่ชัด ๆ เช่น ค้ายา ค้ามนุษย์ ทุจริต-ติดสินบนตุลาการ แล้วแต่ผู้เอาไม้บรรทัดมาวัดหรือคนที่วินิจฉัยจะวินิจฉัยอย่างไร 

“ถ้าเทียบกับ สส.การคัดสรรรัฐมนตรีต้องมีมาตรฐานสูง แต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องสูงที่สุด เพราะฉะนั้น รัฐมนตรีต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ นายกรัฐมนตรียิ่งต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์มากกว่า” 

ยื่นศาลรัฐธรรมนูญฟันให้เป็น “บรรทัดฐาน” 

“สังศิต พิริยะรังสรรค์” 1 ใน 40 สว.ที่ลงชื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิชิตเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เพื่อให้เป็น "บรรทัดฐาน" เราต้องการตั้งคำถามว่า กรณีของนายพิชิต ยังมีสิทธิหรือมีความชอบธรรมที่จะมาเป็นรัฐมนตรี หรือผู้บริหารสูงสุดของประเทศหรือไม่ และนายเศรษฐาเข้าใจเรื่องนี้เพียงพอหรือไม่

"โดยหลักการไม่ควรจะทำ เพราะจะทำให้ความเชื่อมั่นของประเทศเสียหาย เป็นความเชื่อมั่นของต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย และความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล"

ในประเทศที่มีบรรทัดฐานเรื่องประชาธิปไตย เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ไม่สามารถเป็นหน้าตาของประเทศ รัฐมนตรีคือหน้าตาของประเทศ เวลาคนมองเข้ามาจะมองไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 

“ถ้าคนที่มีประวัติด่างพร้อยขนาดนี้ยังสามารถเป็นรัฐมนตรีได้ ผมขอตั้งคำถามว่า ประเทศนี้ไม่มีหลักการแล้วหรืออย่างไร”

ถึงแม้ว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จะสอบถามคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีไปแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อกฎหมายกลับมาว่านายพิชิตไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีนั้น “สังศิต” เห็นต่าง เพราะกฤษฎีกาก็เป็นเพียง เป็นผู้แนะนำทางกฎหมาย ไม่อำนาจ รัฐบาลฟังแล้วจะเชื่อก็ได้ หรือไม่เชื่อก็ได้

“เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักการบริหารประเทศไทย ต้องระมัดระวัง”สังศิตทิ้งท้าย