เบื้องลึกรายชื่อกลุ่ม 40 สว. ยื่นศาลรธน. ตีความคุณสมบัติ "เศรษฐา-พิชิต"

18 พ.ค. 2567 | 06:41 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ค. 2567 | 08:46 น.

เปิดเบื้องลึกรายชื่อกลุ่ม 40 สว. เข้าชื่อและยื่นคำร้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ตีความคุณสมบัติ “พิชิต ชื่นบาน” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี

กรณีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กว่า 40 คนได้เข้าชื่อและยื่นคำร้องผ่านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ หลังจากวานนี้ (17 พฤษภาคม 2567 ) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องไว้ในเชิงธุรการแล้ว 

แหล่งข่าวระดับสูง เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า สว.ที่ได้เข้าชื่อและยื่นคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีนั้น ส่วนใหญ่มาจากคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน และเป็นกลุ่ม สว. ที่ยื่นเรื่องขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 153

โดยมี สว. เสรี สุวรรณภานนท์ และกลุ่มเพื่อน สว. เป็นหลัก โดยให้ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี ซึ่งเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นผู้รับหน้าที่เดินชี้แจงข้อมูลและขอความร่วมมือกับ สว. ในการเข้าชื่อ 

แหล่งข่าวระบุว่า นอกจาก กลุ่มสว. ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ แล้ว ยังมี สว.บางส่วนที่เข้าชื่อด้วย โดยก่อนที่จะมีการเข้าชื่อ สว.หลายคนได้มีการหารือกันภายในถึงคุณสมบัติของนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ได้มีการแสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน ทำให้สว.หลายคนตกลงที่จะเข้าชื่อร่วมและยื่นคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี

“จริง ๆ มีหลายกลุ่ม ไม่ใช่แค่ สว.สายทหารอย่างเดียวตามที่เป็นข่าว แต่มี สว.หลายคนที่เห็นตรงกัน ถึงคุณสมบัติของนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และได้ร่วมเข้าชื่อ” แหล่งข่าวระบุกับ “ฐานเศรษฐกิจ”

ทั้งนี้จากการตรวจสอบรายชื่อสว. ซึ่งอยู่ใน คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ประกอบด้วย 

  • นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ
  • นายจเด็จ อินสว่าง รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง
  • นายวันชัย สอนศิริ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง
  • นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม
  • ว่าที่ร้อยตรี วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี เลขานุการคณะกรรมาธิการ
  • นายพลเดช ปิ่นประทีป โฆษกคณะกรรมาธิการ
  • นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ
  • นายพิทักษ์ ไชยเจริญ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ
  • พลเอก วัฒนา สรรพานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ
  • นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กรรมาธิการ
  • นายประดิษฐ์ เหลืองอร่าม กรรมาธิการ
  • นายสุชัย บุตรสาระ กรรมาธิการ
  • นายออน กาจกระโทก กรรมาธิการ
  • นายกำพล เลิศเกียรติดำรงค์ กรรมาธิการ
  • นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน กรรมาธิการ
  • นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมาธิการ
  • นายจรินทร์ จักกะพาก กรรมาธิการ
  • พันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา กรรมาธิการ
  • นายไพฑูรย์ หลิมวัฒนา ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
  • นายอนุพร อรุณรัตน์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

อย่างไรก็ตามมีการแจ้งเพิ่มเติมว่า สว.เสรี สุวรรณภานนท์ ได้ปฏิเสธว่า ไม่ได้ร่วมเข้าชื่อ รวมทั้งผู้ที่อยู่ในคณะกรรมาธิการ อีก 3 คน คือ นายคำนูณ สิทธิสมาน, นายวันชัย สอนศิริ  และ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ซึ่งไม่ได้ร่วมเข้าชื่อเช่นกัน

ศาลรธน.นัดชี้ชะตา 23 พ.ค.นี้

ส่วนความคืบหน้าล่าสุด มีรายงานว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม 2567 นี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะประชุมพิจารณาคำร้องของสว. 40 คน ที่ได้ร่วมกันเข้าชื่อ ในประเด็นว่า ด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

ทั้งนี้ในการประชุมวันดังกล่าว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาว่า จะรับคำร้องของส.ว.ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ และหากรับจะพิจารณาว่า นายเศรษฐา ต้องพักการปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ไว้ก่อนหรือไม่ และนายพิชิต ต้องพักการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไว้ก่อนหรือไม่ด้วย