KEY
POINTS
ในที่สุด นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้ตัดสินใจยื่นลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อบ่ายวันที่ 21 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยหนังสือลาออกระบุตอนหนึ่งว่า
เหตุผล“พิชิต”ลาออกรมต.
“ขอยืนยันชีวิตยึดมั่นในความบริสุทธิ์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประกอบวิชาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเรียบร้อย เมื่อรับตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายกฎหมายทำหน้าที่ครบถ้วนสมบูรณ์จนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ด้วยความชอบตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ยืดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมเป็นที่สำคัญ ข้าพเจ้าเห็นว่า ปัญหาของพี่น้องประชาชนยังต้องได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่องหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา
แต่เมื่อมีการยื่นคำร้องเกี่ยวกับข้าพเจ้า ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าได้ตรวจสอบและเชื่อมั่นโดยสุจริตแล้วว่า ข้าพเจ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายทุกประการก็ตาม แต่เรื่องนี้ได้มีการพาดพิงไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี หัวหน้าผู้บริหารราชการแผ่นดินต่อศาลรัฐธรรมนูญ
เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี ที่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าด้วยความต่อเนื่อง ข้าพเจ้าจึงไม่ยึดติดกับตำแหน่ง ในลักษณะยึดถือประโยชน์ส่วนตนยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนรวม
ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้ให้ถือเป็นเจตนาของข้าพเจ้าที่มีต่อนายกรัฐมนตรี “ข้าพเจ้าขอลาออกจากการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี" เพื่อให้นายกรัฐมนตรีเดินหน้าบริหารประเทศต่อไปได้ โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 21 พ.ค. 2567 เป็นต้นไป”
ต้นตอทำให้“พิชิต”ไขก๊อก
การลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ของ นายพิชิต ครั้งนี้ เกิดจากก่อนหน้านี้ถูกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 40 คน ยื่นเรื่องผ่าน พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา วันที่ 15 พ.ค. 2567 ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชิต ออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ต่อมา วันที่ 17 พ.ค. 2567 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องจากประธานวุฒิสภา ไว้พิจารณาว่า จะเสนอให้ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” พิจารณารับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 และ พิชิต ชื่นบาน รมต.รีประจำสำนักนายกฯ ผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่ (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
กระทั้งมีรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ได้เตรียมพิจารณาคำร้องดังกล่าว ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.นี้ ว่าจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่
หากศาล “รับคำร้อง” ก็มีโอกาสสูงที่อาจจะสั่ง ให้ นายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ไว้ก่อน และ นายพิชิต ต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไว้ก่อน
5 เบื้องหลัง“พิชิต”ลาออก
อย่างไรก็ตาม การลาออกจากรัฐมนตรี ของ พิชิต ชื่นบาน ครั้งนี้ว่ากันว่า มาจากเหตุผล 5 ปัจจัย ประกอบด้วย
1. “V1- V2- V3” สั่งการ
ข้อนี้แวดวงการเมืองรู้กันดีว่าหมายถึงใคร
2. ลดความสุ่มเสี่ยงในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ
เพราะกรณีคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของ พิชิต ชื่นบาน หากในที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่า พิชิต ขาดคุณสมบัติจริง และต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีโดยคำพิพากษาของศาล ก็จะเป็น “สารตั้งต้น” ให้ขยายผลเอาผิดกับ “นายกฯ เศรษฐา”
โดยเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 วัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้ไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เอาไว้แล้ว ให้ตรวจสอบเอาผิดกับ นายกฯ เศรษฐา ที่ได้เสนอชื่อ นายพิชิต ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ส่อว่ากระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง หรือไม่
3.สละเรือ รักษาขุน
ประเด็นนี้ ก็เป็นอย่างที่ พิชิต ยกมาเป็นเหตุผลในการลาออก ที่ระบุว่า “เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรี ที่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าด้วยความต่อเนื่อง”
4.เกมการเมืองล้มกระดานนายกฯ ขยายวงรุนแรง
ต้องยอมรับว่า การขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ของพรรคเพื่อไทย โดยมี เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ มีคู่แข่งบางฝ่ายไม่พอใจ จึงจ้องหาทางที่จะเล่นงาน หากพลาดขึ้นมาเมื่อไหร่ นายกฯ หรือ รัฐบาลก็มีโอกาส “คว่ำ” ได้เหมือนกัน
5.มือที่มองไม่เห็น กองทัพเริ่มเคลื่อนไหว
การเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ตามมาด้วย บทบาทของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ว่ากันว่า ทำให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) บางส่วนไม่พอใจ เพราะมองว่าล้ำเส้นเกินไปในทุกเรื่อง
แถมยังมีความคิดพาน้องสาว “พายิ่งลักษณ์กลับบ้าน” ที่แสดงออกอย่างชัดเจนแบบไม่เกรงใจใคร
ตามด้วยเรื่อง “งบซื้ออาวุธ” ที่สร้างความไม่พอใจให้กับกองทัพ ...ทั้งหมดทำให้เริ่มมีความเคลื่อนไหวในหมู่ทหารอยู่ขณะนี้
+++++++++++
“พิชิต”เปิดใจไร้ใครกดดัน
นายพิชิต ชื่นบาน อดีตรมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังยื่นลาออกจากรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2567 ก่อนเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ไม่มีใครกดดัน และไม่มีอะไร
เมื่อถามว่าแต่ช่วงเช้ายังแสดงความมั่นใจว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง นายพิชิต กล่าวว่า เมื่อเช้า ก็บอกแล้วไง ก่อนจะพูดปัดว่าไม่มีอะไร
เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะไปดำรงตำแหน่งอะไร นายพิชิต หันกลับมาตอบผู้สื่อข่าวว่าจะให้ทำงานอีกหรือ ก่อนที่จะหัวเราะ โบกมือลาสื่อมวลชน และกล่าวว่า “ชื่นบาน ชื่นบาน”
เมื่อถามว่าสรุปแล้วได้คุยกับนายกฯ หรือไม่เกี่ยวกับการลาออก นายพิชิต กล่าวว่า สบายๆ ไม่มีอะไรกดดันเลย พร้อมกับกล่าวว่า “ตัวผมไม่ยึดติดกับตำแหน่ง”
ส่วนเมื่อออกจากตำแหน่งแล้ว คดีของนายกฯ ที่เหลืออยู่จะถูกศาลรัฐธรรมนูญจำหน่าย และไม่พิจารณาต่อในภายหลังหรือไม่ นายพิชิต ไม่ตอบ เพียงแต่โบกมือและกล่าวว่า “บ๊ายบายสื่อ” พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า “อยู่ให้คนรัก จากให้คนคิดถึง สโลแกนพี่ทำงานจริงจัง คบได้จริงใจ”