จากกรณีที่บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ฟ้องนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ สมัยดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการการประปานครหลวง และพวกรวม 30 รายในคดีประมูลโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์
ล่าสุดมีรายงานว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีหมายเลขดำที่ อท. 132/2566 เมื่อวันที่ 15 เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567 ความอาญา ระหว่าง บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ที่ 1 กับพวกรวม 30 คน ในคดีคณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคาร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมในการเข้าทำสัญญากับการประปานครหลวง (กปน.)
โดยศาลมีคำสั่งประทับฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 จำเลยที่ 12 ถึงที่ 30 ไว้พิจารณาเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90, 91, 83, 86, 151, 157, 368 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ข้อหาอื่นให้ยก พร้อมนัดสอบคำให้การและกำหนดวันนัดพิจารณาในวันที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 9.30 น.
ในรายงานกระบวนการพิจารณา มีคำสั่งพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ประกอบข้อแถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอันสำคัญที่ศาลควรสั่งคดีแล้วได้ความว่า
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มี นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน การประปานครหลวง เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. 2510 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจบริหารงานตามระบบราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย
มี "ผู้ว่าการประปานครหลวง" ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก คณะกรรมการการประปานครหลวง เป็นผู้บริหารกิจการของการประปานครหลวงให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับและนโยบายที่คณะกรรมการกำหนดและมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานทุกตำแหน่งและลูกจ้าง และตามมาตรา 15 กำหนดให้ ประธานกรรมการ กรรมการและพนักงานของการประปานครหลวง เป็นเจ้าพนักงาน ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญา
ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการการประปานครหลวง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย.2563 จนถึงปัจจุบัน มีหน้าที่ร่วมกับ คณะกรรมการการประปานครหลวง (คณะกรรมการฯ) ในการวางนโยบายและควบคุมดูแลทั่วไปซึ่งกิจการของการประปานครหลวง
รวมถึงวางข้อบังคับเกี่ยวกับการดำเนินกิจการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ.2510 วางข้อบังคับการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการ วางข้อบังคับว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอนพนักงาน ระเบียบวินัย การลงโทษพนักงานและการร้องทุกข์และวางข้อบังคับว่าด้วยระเบียบปฏิบัติงานของการประปานครหลวง เป็นต้น
และมีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุของหน่วยงานของการประปานครหลวง
ศาลวินิจฉัยเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 86, 151, 157, 368 พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 อ้างว่า โจทก์มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนและเป็นผู้ยื่นเสนอราคาต่ำที่สุด จำเลยจะต้องประกาศให้โจทก์เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโครงการนี้ได้ความตามทางไต่สวนจากนายสมศักดิ์ ภู่สกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นพยานโจทก์ ตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงฉบับวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ว่า
ตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์เอกสารหมาย จ.24 การประปานครหลวงจะต้องดำเนินการกลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผล การเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องต่อไป หมายความว่า ให้การประปานครหลวงต้องกลับไปพิจารณาผลการเสนอราคาอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ตามประเด็นอุทธรณ์
โดยพิจารณาว่า ผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย ได้ยื่นหนังสือรับรองผลงานเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในประกาศประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 2.11 ทั้งสองรายแล้วพิจารณาให้ผู้อุทธรณ์ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้ชนะการเสนอราคาต่อไป ซึ่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด ตามนัยมาตรา 119 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์จะกลับไปตรวจสอบคุณสมบัติอื่น ๆ ของผู้ยื่นข้อเสนอที่อุทธรณ์ฟังขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยอ้างว่า ยังไมได้ตรวจสอบไม่ได้
และนายสมศักดิ์ ภู่สกุล รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง เบิกความตอบศาลถามว่า กรรมการพิจารณาผลมีหน้าที่ทำรายงานเสนอต่อหัวหน้าหน่วยงานให้ความเห็นชอบเพื่ออนุมัติให้สั่งซื้อสั่งจ้างสำหรับผู้เสนอราคาต่ำสุดเป็นลำดับที่ 1 ไม่อาจจะเรียกผู้เสนอราคาอันดับที่ 2 ที่ 3 เข้าทำสัญญา หากเรียกผู้เสนอราคารายราคาต่ำสุดอันดับที่ 1 ให้มาทำสัญญาแล้วไม่มา จึงเรียกผู้เสนอราคาต่ำสุดอันดับ 2 และอันดับ 2 เข้าทำสัญญาเป็นลำดับ
การที่คณะกรรมการใช้ดุลพินิจเรียกผู้เสนอราคาแตกต่างไปถือว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 8 ที่ 16 ที่ 18 ถึง 20 ที่ 24 และที่ 25 ขออนุญาตศาลถามว่า ระบบ e-bidding ใช้เกณฑ์ราคาต่ำจะเปิดราคาพร้อมเอกสารของผู้เสนอราคา ดังนั้น ข้อเท็จจริงในคดีนี้ราคาย่อมเปิดเผยพร้อมความถูกต้องของเอกสาร
พฤติการณ์แห่งคดีบ่งชี้ให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกทุกคนทราบดีทุกขั้นตอนในการดำเนินการประกวดราคาในคดีนี้ว่า ตามขั้นตอนการพิจารณาผลการประกวดราคาจำเลยที่ 19 ถึงที่ 23 ได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วและผลการพิจารณา คือ โจทก์เป็นผู้มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนเสนอราคาต่ำสุดซึ่งการประปานครหลวงควรประกาศให้โจทก์เป็นผู้ชนะการประกวดราคา
แต่จากพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมีเหตุให้เชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกทุกคนมีเจตนาร่วมกันที่จะทำให้โจทก์ขาดคุณสมบัติ ไม่ได้รับการคัดเลือกเพื่อช่วยให้บริษัท ITA Consortium เป็นผู้ชนะการประกวดราคาซึ่งการร่วมกันกระทำการดังกล่าวบรรยายมาในฟ้อง
จำเลยที่ 1 กับพวกทุกคนได้ร่วมกันกระทำการต่าง ๆ ในลักษณะประวิงเวลาการปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่ได้มีคำสั่งให้ จำเลยที่ 1 กับพวกทุกคนร่วมกันดำเนินการตามขั้นตอนการประกวดราคาและพิจารณาในส่วนขั้นตอนการพิจารณาราคา
เมื่อพิจารณาประกอบเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้าง ได้กำหนดไว้ในข้อ 6 หลักเกณฑ์และสิทธิในการพิจารณาประกอบกับข้อ 3.2 ส่วนที่ 2 (1) - (3) เอกสารทั้งหมดที่ได้ยื่นข้อเสนอจะต้องผ่านการตรวจสอบพร้อมกัน จึงเป็นการยืนยันว่า การประปานครหลวงได้ตรวจสอบเอกสารและข้อเสนอทางเทคนิคจนครบถ้วนแล้ว
การขอให้บริษัทชี้แจงเพิ่มเติมอีกย่อมไม่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ที่สั่งให้การประปานครหลวงกลับไปดำเนินการในขั้นตอนการพิจารณาผลการเสนอราคาของผู้ยื่นข้อเสนอให้ถูกต้องเท่านั้น พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีมูล ที่ศาลจะรับคดีไว้เพื่อดำเนินการต่อไปได้ คดีโจทก์มีมูล
ส่วนคำขอตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 3 "พนักงาน" หมายความว่า ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ กรรมการหรือ บุคคลผู้ปฏิบัติงานในองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละ 50 เป็นของรัฐ โดยได้รับเงินเดือนหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นจากองค์การ บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือหน่วยงานนั้น ๆ ทั้งนี้ นอกจากผู้เป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วตามกฎหมาย เมื่อ พ.ร.บ.การประปานครหลวง กำหนดความเป็นเจ้าพนักงานไว้ การกระทำของจำเลย จึงไม่อาจปรับบทเป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีก
ส่วน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ.2542 และพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 120, 121 รัฐเท่านั้นที่จะเป็นผู้เสียหายในการฟ้องคดีต่อผู้กระทำผิด ผู้เข้าร่วมเสนอราคาได้อยู่ในฐานะผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีเองได้จึงไม่อาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามข้อนี้ได้ตามฎีกา 8771/2557