KEY
POINTS
เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา 48 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(4) และ (5) หรือไม่
ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีมติ 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ “นายกฯเศรษฐา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ชี้แจงภายใน 15 วัน (ครบราว 7 มิ.ย. 67)
พร้อมทั้งได้ตีตกคำร้องถอดถอน “พิชิต ชื่นบาน” เหตุพ้นจากตำแหน่ง เพราะชิงลาออกจากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไปก่อนหน้าแล้ว
2 เดือนชี้ชะตา“เศรษฐา”
การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี ของ นายกฯ เศรษฐา นำไปสู่ความ “สุ่มเสี่ยง” ที่จะทำให้หลุดจากแหน่ง “นายกรัฐมนตรี คนที่ 30” ได้เหมือนกัน
คาดกันว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ไม่เกิน 3 เดือน ก็น่าจะมีคำวินิจฉัยชี้ชะตา “นายกฯ เศรษฐา” ออกมา
สมมติว่าศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติ “ฟัน” เศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ก็จะนำไปสู่กระบวนการสรรหา “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” ใน “สภาผู้แทนราษฎร”
กติกาโหวตเลือกนายกฯ
ภายใต้กติกาตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้
1.สภาผู้แทนราษฎร พิจารณานายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอก่อนเลือกตั้ง พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ
2.รายชื่อนั้นต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 (25 ที่นั่ง) และมีผู้รับรองในการเสนอไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 (50 เสียง) ซึ่งแคนดิเดตที่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งสองสภา (สภาผู้แทนราษฎร และ สมาชิกวุฒิสภา) เท่าที่มีอยู่
อย่างไรก็ตาม สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ชุดที่แต่งตั้งโดย คสช. ได้ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ไปแล้ว และไม่มีอำนาจในการร่วมโหวตเลือกนายกฯ อีก
ดังนั้น ในการโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ กระบวนการต้องว่ากันไปใน “สภาผู้แทนราษฎร” เพียงสภาเดียว โดยต้องใช้เสียง ส.ส. ให้ความเห็นชอบ “นายกรัฐมนตรี” มากกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา ส.ส. ซึ่งก็คือ 250 เสียงขึ้นไป จากทั้งหมด 500 เสียง
“อุ๊งอิ๊ง”จ่อคิวนายกฯ?
แล้วมีใครบ้างที่อยู่ในข่ายสามารถเสนอชื่อชิงเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี คนที่ 31” ได้
หากไล่เรียงดูแคนดิเดตนายกฯ จากบัญชีของพรรคการเมือง ที่เคยเสนอต่อ กกต.ไว้ และมีองค์ประกอบครบตามเงื่อนไขข้างต้น จะพบว่า มีแคนดิเดตนายกฯ จาก 6 พรรคการเมือง ที่ยังมีสิทธิ์เสนอชื่อชิงนายกฯ ได้ ประกอบด้วย
1.พรรคเพื่อไทย มี ส.ส. 141 คน มีแคนดิเดตนายกฯ 3 คน คือ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ
ถ้า เศรษฐา ทวีสิน ถูกสอยตกเก้าอี้นายกฯ ยังเหลือแคนดิเดตนายกฯ 2 คน คือ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร และ ชัยเกษม
แต่โอกาสคนที่จะได้เป็นนายกฯ คือ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร
หากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมที่มี 314 เสียง ยังเหนียวแน่นกันอยู่ และ พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
“ก้าวไกล”หมดตัวชิงนายกฯ
2.พรรคก้าวไกล มี ส.ส. 151 คน มีแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล
เมื่อพรรคก้าวไล มีแคนดิเดตนายกฯ เพียงคนเดียว และ พิธา กำลังเจอมรสุม พิษจากคดีแก้ ม.112 ที่คดี “ยุบพรรคก้าวไกล” ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค อยู่ระหว่างรอ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ลงดาบนั้น
โอกาสที่ พิธา จะได้กลับมาเป็นตัวชิงนายกฯ ในนามของพรรคก้าวไกล แถบจะ “ปิดประตูตาย” ไปเลย
แม้พรรคก้าวไกล ไม่มีแคนดิเดตนายกฯ ของตัวเองอยู่อีกแล้ว แต่ยังสามารถเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยไปสนับสนุนชื่อ นายกฯ จากแคนดิเดตของพรรคอื่นได้ หากมีการผสมพันธุ์รัฐบาล “ข้ามขั้ว” กันเกิดขึ้น
3.พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส. 71 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค
พรรคนี้หากมีโอกาส “พลิก” ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็แน่นอนอยู่แล้วว่า “เสี่ยหนู” ได้โอกาสลุ้นนั่งเก้าอี้นายกฯ คนไปต่อ
4.พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส. 40 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค
พรรคพลังประชารัฐ ถ้ามีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “บิ๊กป้อม” ก็น่าจะไปถึง “ดวงดาว” ในตำแหน่งนายกฯ ...แต่ดูแล้วโอกาสยากเต็มทน
5.พรรครวมไทยสร้างชาติ มี ส.ส. 36 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
แต่ตอนนี้ ตัด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกไปได้เลย เพราะท่านอยู่ในสถานะ “องคมนตรี” แล้ว
จะเหลือก็เพียงแต่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค ที่ “จับพลัดจับผลู” อาจจะไปถึงตำแหน่งนายกฯ คนต่อไปก็ได้ ใครจะไปรู้
5 แคนดิเดตชิงนายกฯ คนที่ 31
6. ปิดท้ายกันที่ พรรคประชาธิปัตย์ มี ส.ส. 25 คน มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียว คือ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค
พรรคประชาธิปัตย์ แม้หลายคนจะมีใจสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน แต่สถานะถือว่าเป็น “ฝ่ายค้าน”
และโอกาสที่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรค จะไปถึง “ดวงดาว” ในตำแหน่งนายกฯ ก็ “ริ่บหรี่ๆๆๆๆ” ยิ่งนัก
สรุป ตอนนี้มี 6 พรรคการเมือง ที่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ รวม 7 คน คือ พรรคเพื่อไทย 2 คน พรรคก้าวไกล 1 คน พรรคภูมิใจไทย 1 คน พรรคพลังประชารัฐ 1 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน และ พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน
แต่โอกาสคนที่อยู่ในข่ายเป็น “นายกรัฐนตรี คนที่ 31” ได้ มีเพียง แพทองธาร ชินวัตร ชัยเกษม นิติสิริ อนุทิน ชาญวีรกูล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เท่านั้น ส่วนคนอื่น “ยากส์”
มารอดูกัน หาก “เศรษฐา” มีอันต้องตกจากเก้าอี้นายกฯ
“อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร” จะเจริญรอยนั่งเก้าอี้นายกฯ เหมือนกับ “พ่อทักษิณ-อายิ่งลักษณ์-อาสมชาย” หรือไม่....