ไทม์ไลน์สำคัญทางการเมืองของประเทศไทย ผูกมัดรวมเอาไว้ในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ซึ่งในวันนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้มีการนัดกรณีสำคัญ ถึง 3 คดี
คดีแรก ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน เพื่อพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล คดีต่อมา ว่าด้วยการเลือกตั้งสว. ว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเป็นกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติในวันเดียวกัน
สุดท้ายคือคดี ที่ 40สว. ยื่นเรื่องถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน ให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ โดยมีคำสั่งให้คู่กรณียื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน และกำหนดนัดพิจารณาต่อในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ในขณะเดียวกันทางอัยการสูงสุด ได้นัดให้ นายทักษิณ ชินวัตร มาพบพนักงานอัยการเพื่อยื่นฟ้องศาลในคดีอาญามาตรา 112 ในวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ด้วยเช่นเดียวกัน
รายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางยูทูป ฐานเศรษฐกิจ ได้สนทนากับ รศ.ดร. โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ ม.บูรพา ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดย ดร.โอฬารมองว่าการเมืองในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ ถือเป็นการมัดรวมทางการเมืองที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์
18 มิถุนายน เป็นการชี้ชะตาผู้ที่เกี่ยวพันทางการเมืองทั้งอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ซึ่งหากผลจากวันที่ 18 มิถุนายน กระทบต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กระทบต่อพรรคเพื่อไทย กระทบต่อนายทักษิณ ชินวัตร หรือกระทบต่อการเลือกสว. อำนาจจะถูกโยกจากพรรคเพื่อไทยไปสู่ลุงในป่า สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้เป็นแบบ 2ข้าง 3ขั้วใครหักหลังใครก่อนชนะ
ซึ่งแม้ว่าหลายเหตุการณ์จะบังเอิญไปรวมอยู่ในวันที่ 18 มิถุนายน อาจเนื่องด้วยกระบวนการทำงานของหน่วยงานราชการต่างๆประจวบเหมาะกันพอดี แต่ในทางการเมืองนั้นไม่มีอะไรที่เป็นความบังเอิญ ทุกอย่างล้วนถูกจัดวางเอาไว้แล้ว
โดยเหตุปัจจัยที่นำมาสู่สถานการณ์ทางการเมืองเช่นทุกวันนี้ จุดเริ่มต้นมาจากการหักดีลกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ตลอดจนถึงการใช้อำนาจอิทธิพลทางการเมืองเหนือกระบวนการยุติธรรม ผนวกกับการบริหารงานที่ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ รัฐบาลไม่สามารถครองใจประชาชน ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนได้
สถานการณ์เช่นนี้ผู้ที่ได้รับความเสียหายคือประชาชน ผู้ประกอบการ นักธุรกิจทั้งหลาย เรียกได้ว่า "หญ้าแพรกแหลกลาญ ช้างสารชนกัน" ลักษณะการเมืองของประเทศไทยถือเป็นการเมืองที่ไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้
เนื่องจากเป็นการเมืองที่ต่อสู้กันระหว่างชนชั้นนำที่แย่งชิงอำนาจเฉพาะหน้า จึงส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุน เพราะประเทศที่เศรษฐกิจสามารถเติบโตและมีเสถียรภาพได้นั้น การเมืองจะต้องเป็นการเมืองที่ผู้ประกอบการนักลงทุนและประชาชนสามารถคาดการณ์ได้ และมีความเชื่อมั่น
เหตุการณ์ ในวันที่ 18 มิถุนายน ให้จับตาดูตั้งแต่การพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกส.ว. หากสุดท้ายการเลือกส.ว. เป็นโมฆะ เท่ากับว่าส.ว. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ขณะนี้ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และปฏิบัติการเปลี่ยนขั้วอำนาจก็จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ดูได้จากการตอบโต้เรื่องคนในป่ากับนายทักษิณ ต่อมาคือจับตาดูการตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งในกระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ผลเป็นอย่างไรไม่สามารถทราบได้ แต่ในทางการเมืองแล้ว พรรคก้าวไกลต้องถูกยุบ
เพราะพรรคก้าวไกลคือภัยคุกคามของกลุ่มทุนผูกขาด รวมไปถึงกองทัพ ตำรวจ กลุ่มชนชั้นนำฝ่ายจารีต รวมไปถึงนักธุรกิจการเมืองทั้งหมด ล้วนมีก้าวไกลเป็นศัตรูร่วมกัน จึงมุ่งสู่การกำจัดพรรคก้าวไกลเพื่อให้เกิดการแตกรัง โดยเชื่อว่าในระยะสั้นต้องเกิดงูเห่าขึ้นมาจำนวนหนึ่ง
ลำดับถัดมาหากลุงในป่าต้องการเปลี่ยนขั้วอำนาจจัดตั้งรัฐบาล จำเป็นต้องมีเสียงเกิน 250 เสียง จึงต้องมีการช้อนซื้อเพื่อรวมเสียงให้ได้ ต่อมาต้องนำนายเศรษฐาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเสียก่อน ซึ่งหากในวันนั้นพรรคก้าวไกลถูกยุบไปแล้วก็จะทำให้ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรีได้ด้วย จึงเป็นโอกาสที่จะโยกย้ายอำนาจไปสู่ลุงในป่าจนได้
ดร.โอฬาร วิเคราะห์ต่อไปว่า การที่ลุงในเมืองส่งนายวิษณุ เครืองาม มาเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีนั้น ก็เพื่อควบคุมการดำเนินนโยบายของรัฐบาลนี้ ซึ่งนั่นคือแผนของลุงในป่าและลุงในเมือง ที่ซ่อนซ้อนนายทักษิณเอาไว้อีกชั้นหนึ่ง เกมชิงอำนาจครั้งนี้ จึงเปรียบเหมือนละครฉากใหญ่ เป็นแผนที่ถูกวางเอาไว้เป็นสเต็ป ซึ่งอาจจะมี "มันจบแล้วครับนาย ภาค 2" เกิดขึ้น