ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี พยานปากเอก คดีถอดถอนเศรษฐา

18 มิ.ย. 2567 | 03:31 น.

วิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดชื่อ ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี พยานปากเอก คดีถอดถอนเศรษฐา แย้ม ข้อต่อสู้ ลัดขั้นตอนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติจริยธรรม-ซื่อสัตย์สุจริต เริ่มนับวันที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ชี้ ไม่ตัดสินเร็ว ๆ นี้

วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะหารือคดีคุณสมบัติรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้พิจารณาคดีในวันนี้ เพียงเพิ่งเริ่มพิจารณาหลังจากได้รับบัญชีระบุพยานหลักฐานที่รัฐบาลไปยื่นแล้วเมื่อวานนี้ (17 มิ.ย.67)  แต่ยังไม่ได้มานั่งประชุมพิจารณาและถกเถียงกัน ยังไม่ได้เกิดขึ้นวัน สองวันนี้ อาจจะหลายวัน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า พยานที่ส่งไปมีหลายคนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คนเดียว

เมื่อถามย้ำว่า เปิดเผยได้หรือไม่ว่าเป็นใคร นายวิษณุกล่าวว่า นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพราะรู้กระบวนการทั้งหมด คนอื่นไม่รู้

ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี พยานปากเอก คดีถอดถอนเศรษฐา

เมื่อถามเท่าที่ตรวจคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า นายรัฐมนตรีจะรอด นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ขอออกความเห็น 

“หรือคุณจะให้ผมบอกว่า ดูแล้วไม่รอดแหง๋ ๆ ก็ประหลาด แต่จะบอกว่า รอดแน่ ๆ ก็พูดไม่ได้ เพราะเรื่องเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ให้ศาลสบายอกสบายใจ คุณชอบพูดอยู่เรื่อยว่า ผมพูดชี้นำศาล”

เมื่อถามว่า ข้อเท็จจริงที่ต้องการชี้ให้ศาลเห็นว่า การแต่งตั้งนายพิชิตถูกต้องใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องลึกลับอะไร แต่ในชั้นนี้ศาลรัฐธรรมนูญยังไมได้เริ่มพิจารณาเลย จะมาพูดกันเสียก่อน แถลงนอกศาลไม่ดี

ณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี พยานปากเอก คดีถอดถอนเศรษฐา

เมื่อถามว่า เรื่องที่ สลค.ไม่ได้ถามกฤษฎีกาเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตได้ส่งชี้แจงไปหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ต้องส่งคำอธิบายไป 

เมื่อถามย้ำว่าได้ระบุคำนิยามของคำว่าจริยธรรม ซื่อสัตย์จริตหรือไม่ นายวิษณุเกล่าวว่า ไม่ถึงกับนิยาม เพราะเป็นคำที่เข้าใจกันอยู่โดยทั่วไป เพียงแต่ คำว่าซื่อสัตย์สุจริต หรือ มาตรฐานจริยธรรม มีความหมายตามรัฐธรรมนูญและมีกระบวนการ เวลาจะกล่าวหาว่าใครละเมิดมาตรฐานทางจริยธรรม 

“มาตรฐานจริยธรรมไม่ใช่เป็นคำที่เราแต่งขึ้นมาเอง มันเป็นคำเฉพาะของมัน เหมือนกับชื่อคน มันเป็นชื่อกฎหมาย เวลาเราจะกล่าวหาว่าใครผิดมาตรฐานจริยธรรมก็จะต้องร้องต่อ กกต. มันมีเส้นทางของมัน”

เมื่อถามว่า จะเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา นายวิษณุกล่าวว่า ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะอย่างอื่นพิสูจน์เป็นรูปธรรมง่าย เคยติดคุกหรือไม่ เคยต้องคำพิพากษาหรือเปล่า เอากระดาษแผ่นสองแผ่นยื่นก็พอ แต่มาตรฐานจริยธรรมใครก็ตรวจไม่ได้ ถ้าไม่มีกระบวนการเฉพาะต่างหากก่อน หรือ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ 

“อยู่ ๆ จะไปบอกว่าใครไม่ซื่อสัตย์สุจริตตามรัฐธรรมนูญมันอันตราย พอบอกว่า ไม่ซื่อสัตย์สุจริตปั๊บ มันก็ขาดคุณสมบัติตลอดชีวิต”

เมื่อถามว่ามีบางคนมองว่า เป็นเรื่องของหน่วยงานอื่นพิจารณา ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ นายวิษณุกล่าวว่า ในรัฐธรมนูญก็เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญด้วย

เมื่อถามว่า การพิจารณาคดีลักษณะนี้มีบรรทัดฐานมาก่อนหน้านี้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่เหมือนกันชัด เป็นกรณีที่ดำรงตำแหน่งอยู่และมีการร้องขึ้นมาเพื่อเอาออกจากตำแหน่ง แต่ในกรณีนี้เป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่ง จะเข้าไปดำรงตำแหน่ง 

“นี่พูดถึงท่านนายกฯ นะ ตัวคุณพิชิตแกดำรงตำแหน่ง แกออกไปแล้วก็จบเรื่องไป ตอนจะตั้งทำไมถึงไม่รู้ แต่ว่าคนอื่นที่มีบรรทัดฐานมาแล้ว เป็นเรื่องตั้งไปแล้ว เลือกไปแล้ว เป็นแล้ว แล้วมาเห็น มาเจอ หลายคนก็เป็นพฤติกรรมที่ไปทำ เป็นชิ้น เป็นอัน ในขณะนั้น ในขณะกล่าวหานั้น”

เมื่อถามว่า แสดงว่า เรื่องมาตรฐานจริยธรรมต้องเริ่มนับหลังจากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ได้ตอบในลักษณะนี้ แล้วแต่ศาล รอฟังศาลชี้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้แล้วถือว่าเป็นบรรทัดฐาน 

เมื่อถามว่า การอ้างว่า นายกรัฐมนตรีไม่รู้พฤติกรรมในอดีตของนายพิชิตฟังขึ้นหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ขออธิบายตรงนี้ เราไปอธิบายกันในศาล

เมื่อถามว่า ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเร็วหรือช้า นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ ภายใน 3 วัน 5 วัน 7 วัน 

เมื่อถามว่า อาจจะมีการขยายระยะเวลาออกไปให้ชี้แจงเพิ่มเติม นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ต้องชี้แจงแล้ว