ผลสอบ บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก คดีในสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีมูล - ขัดแย้งทุกระดับ

20 มิ.ย. 2567 | 03:54 น.

วิษณุ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงผลสอบข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย สองบิ๊ก บิ๊กต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ชี้คดีมีมูล มีความขัดแย้งในทุกระดับ

วันที่ 20 มิถุนายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวความคืบหน้าผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า มีการตั้งคณะอนุกรรมการหลายชุด 50 กว่าคน โดยผลการตรวจสอบมีดังนี้

ข้อแรก ผลการตรวจสอบว่ามีมูล มีความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกระดับ ทุกฝ่าย จนเกิดเป็นคดีความฟ้องร้อง 

ข้อสอง เกี่ยวพันกับพล.ต.อ.ต่อศักดิ์และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งมีทีมงานของทั้งสองเกิดความขัดแย้งด้วย เช่น คดี 140 ล้าน หรือ คดี "เป้รักผู้การเท่าไหร่" คดีกำนันนก คดีมินนี่ คดีบีเอ็นเค และคดีแยกย่อยอีกเป็นสิบคดี และมีคดีในศาลคดีทุจริตประพฤติมิชอบ ภาค 7 และศาลคดีทุจริตในส่วนกลาง ซึ่งมีทั้งคดีที่เพิ่งเกิดและเกิดขึ้นนานมาแล้ว

 

ข้อสาม ต้องดำเนินการส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บางเรื่องส่งให้ตำรวจ อัยการและศาล

ข้อสี่ บางเรื่องเกี่ยวกับหน่วยงาน องค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งดำเนินการไปแล้ว และดีเอสไอ

ข้อห้า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ซึ่งได้รับคำสั่งให้กลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว แล้ว เมื่อวันที่ 18 เม.ย.67 ในตำแหน่งและหน้าที่เดิม และวันเดียวกันให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อสอบสวนทางวินัย และคำสั่งให้ออกจากราชากรไว้ก่อน

ทั้งนี้ ออกคำสั่งให้พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กลับไปปฏิบัติหน้าที่เดิมในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“ผลการตรวจสอบไม่ได้ชี้ถูก ชี้ผิด แต่เห็นความสับสนในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของใคร ดังนั้นกรรมการจึงเสนอให้กระทรวงยุติธรรมและกฤษฎีกาศึกษาว่าใครมีอำนาจกันแน่ เพื่อเป็นคู่มือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามต่อไป”นายวิษณุกล่าว 

นายวิษณุกล่าวว่า กรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 132  แต่ฉบับใหม่เพิ่มมาตราใหม่ ห้ามไม่ให้กระทบต่อสิทธิประโยชน์บุคคลนั้น และต้องทำโดยคำสั่งของคณะกรรมการสอบสวนก่อน ซึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกามีมติ 10 ต่อ 0 มีความเห็นว่า เป็นการกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เพราะไม่ได้ผ่านคณะกรรมการสอบสวนจึงให้แก้ไขให้ถูกต้อง ดังนั้นสถานภาพของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์อยู่จึงยังไม่ได้นำขึ้นกราบบังคมทูลฯ ต้องรอผลคณะกรรมการสอบสวนก่อน 
 

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สืบเนื่องเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในคำสั่ง จำนวน 3 ฉบับ 

ฉบับแรก คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 106 /2567 เรื่อง ให้พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี 

ฉบับที่สอง คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 108/ 2567 เรื่อง ให้ พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รักษาราชการแทนในตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 

ฉบับที่ 3 คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 109 / 2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีปรากฎเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการ นายชาติพงษ์ จีระพันธุ กรรมการ พลตำรวจเอกวินัย ทองสอง กรรมการและเลขานุการ

ทั้งนี้ มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีของบุคลากรภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วรายงานนายกรัฐมนตรีภายในหกสิบวัน