"ผลเลือกตั้งสว.2567 ระดับประเทศ" ตรวจสอบรายชื่อ ด้วย QR Code กกต.

27 มิ.ย. 2567 | 01:25 น.
อัปเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2567 | 07:22 น.

กกต.จัดทำ QR Code เพื่อตรวจสอบรายชื่อ "สรุปผลการเลือกตั้งสว.2567 ระดับประเทศ" ครบทั้ง 200 คน และรายชื่อสำรอง ดูข้อมูลได้ที่นี่

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดทำ QR Code เพื่อให้ประชาชนสแกนเข้าไป ตรวจสอบรายชื่อ ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ระดับประเทศ 2567 ทั้ง 200 รายชื่อ รวมทั้งรายชื่อสำรอง

สำหรับการเลือกตั้งสว.ระดับประเทศ 2567 เกิดขึ้นที่อิมแพ็ค ฟอรั่ม อาคาร 4 เมืองทองธานี ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 26 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ระดับประเทศอย่างเป็นทางการ

เริ่มตั้งแต่การรายงานตัวในเวลา 08.00 - 09.00 น. โดยมีการลงคะแนนรอบแรกเวลา 09.30 น. ผู้สมัคร 800 คน จาก 20 กลุ่มอาชีพได้เข้าร่วมกระบวนการคัดเลือก โดยมีการแบ่งสายเป็น 4 สาย (ก, ข, ค, ง) เพื่อคัดเลือกผู้ที่ผ่านเข้าสู่รอบที่สอง

หลังจากนั้นการลงคะแนนรอบที่สองเริ่มต้นเวลา 20.00 น. และการนับคะแนนเริ่มขึ้นในเวลา 21.40 น. รายงานข่าวแจ้งว่า การนับคะแนนรอบนี้จะใช้เวลามากกว่ารอบแรกถึง 3 เท่า เนื่องจากต้องการความละเอียดและรอบคอบในการตรวจสอบคะแนน

ผู้สมัครแต่ละคนจะได้รับบัตรลงคะแนน 4 ใบ ซึ่งต้องกรอกหมายเลขผู้สมัครกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน 5 หมายเลข แต่ห้ามเลือกตัวเองและผู้สมัครในกลุ่มเดียวกัน

และใช้เวลาล่วงเลยมาจนถึงเวลา 04.52น. เช้ามืดของวันพฤหัสบดีที่ 27 มิ.ย. 2567 การนับคะแนนผลการเลือกสว.ระดับประเทศ 2567เป็นที่เรียบร้อย

ได้รายชื่อว่าที่ สว. ทั้ง 200 รายชื่อ พร้อมลำดับสำรอง ซึ่งกกต.ได้จัดทำ QR Code ให้สแกนตรวจสอบรายชื่อได้ด้วยตัวเอง พร้อมกับจะแถลงสรุปผลการเลือกตั้งสว.ระดับประเทศในวันนี้(27 มิ.ย.67) อีกครั้ง โดยจะมีการประสานแจ้งเวลาในภายหลัง

 

QR Code ตรวจสอบรายชื่อและการเลือกตั้งสว.ระดับประเทศ 2567 จาก สำนักงานกกต.

สำหรับรายละเอียดกลุ่มอาชีพในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีดังนี้:

  • กลุ่มที่ 1: การบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง
  • กลุ่มที่ 2: กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
  • กลุ่มที่ 3: การศึกษา
  • กลุ่มที่ 4: สาธารณสุข
  • กลุ่มที่ 5: อาชีพทำนา ทำไร่
  • กลุ่มที่ 6: อาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
  • กลุ่มที่ 7: ลูกจ้าง แรงงาน
  • กลุ่มที่ 8: อาชีพด้านสิ่งแวดล้อมฯ
  • กลุ่มที่ 9: ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
  • กลุ่มที่ 10: ผู้ประกอบกิจการอื่น
  • กลุ่มที่ 11: ผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว พนักงานโรงแรม
  • กลุ่มที่ 12: ผู้ประกอบอุตสาหกรรม
  • กลุ่มที่ 13: ผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม
  • กลุ่มที่ 14: สตรี
  • กลุ่มที่ 15: ผู้สูงอายุ คนพิการ หรือผู้ทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์
  • กลุ่มที่ 16: ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี การแสดง และบันเทิง กีฬา
  • กลุ่มที่ 17: ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
  • กลุ่มที่ 18: สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
  • กลุ่มที่ 19: ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ
  • กลุ่มที่ 20: กลุ่มอื่นๆ