เปิดประวัติ 10 ว่าที่ สว.กลุ่มบริหารราชการแผ่นดิน-มั่นคง

28 มิ.ย. 2567 | 07:43 น.
อัปเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2567 | 08:05 น.

เปิดประวัติ 10 (ว่าที่) สว.ป้ายแดง กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ถูกวางตัวเป็น ว่าที่ ประธานวุฒิสภา

การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ จำนวน 200 คน ระดับประเทศ รูดม่านกล จบแต่ไม่สะเด็ดน้ำ  

ท่ามกลางเสียงกระหึ่มจากผู้แพ้-ตกรอบ นอกจากเป็นการ "เลือก สว." ที่ซับซ้อน-ซ่อนเงื่อนแล้วยังสกปรกที่สุด

แต่สำหรับผู้กำชัยชนะ-สมหวัง ผ่านเข้ารอบตัดเชือก ก่อนจะต้องไปลุ้นในรอบ "สอยทีหลัง" ผัดหน้า-แต่งตัว รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง-พาเหรดเข้า "สภาสูง" 

"ฐานเศรษฐกิจ" เปิดประวัติ (ว่าที่) สว.ป้ายแดง 10 คน เฉพาะใน กลุ่ม 1 กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง ที่มีบิ๊กเนม-ขาใหญ่ร่วมกรุ๊ป จนเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า ถูกวางตัวเป็น "ประมุขสภาสูง"  

พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ 74 คะแนน 

หรือ “บิ๊กเกรียง” อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วย ผบ.ทบ.) ภายหลังเกษียณอายุราชการได้รับการแต่งตั้งในคณะกรรมการสำคัญ ๆ เช่น ประธานอนุกรรมการประสานงานการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ.2559 ปัจจุบันยังได้รับการแต่งตั้งเป็น เป็นประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (อนุทิน ชาญวีรกูล) 

อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ได้รับสมญานาม “แม่ทัพกระดูกเหล็ก” หลังจากเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กร่อนลงฉุกเฉินกลางสวนยางพารา จ.สงขลา แต่ได้รับบาดเจ็บเพียงกระดูกสะโพกขวาหัก 

“แม่ทัพเกรียง” จบจากโรงเรียนเตรียมทหาร (ตท.) รุ่นที่ 22 และเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) รุ่นที่ 33  เข้ารับราชการทหารที่กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 25 จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 42 เสนาธิการจังหวัดทหารบกปัตตานี รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 และเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี 71 คะแนน

หรือ “ผู้ว่าปู” อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร “แมวเก้าชีวิต” ตัวจริง-เสียงจริง หลังจากลงจาก “จวนผู้ว่า” สวมบท “พ่อเมือง” ต่อสู้กับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 จนต้องติดโควิด-ผ่าตัดสมองอยู่ในช่วงเวลาที่ความเป็น-ความตายเท่ากัน 

ถึงแม้ว่า “ผู้ว่าปู” สามารถ “โกงความตาย”  ทว่า “ผู้ว่าปู” ต้องตกอยู่ในสถานะ “ขาลง” อีกครั้ง หลังจาก “ลูกน้องเก่า” ปฏิเสธการเอ่ยปากร้องขอจาก “เจ้าหน้าเก่า” ชนิดไม่เหลือความสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้บังคับบัญชา” และ “ผู้ใต้บังคับบัญชา” จนผู้ว่าปูต้องโพสต์ระบายความทุกข์บนเฟซบุ๊กต่อสื่อสาธารณะบนโลกเสมือนจริง  

ก่อนจะถึงจุดสูงสุดในชีวิตข้าราชการ “ผู้ว่าปู” ไต่ระดับจาก “นักพัฒนาชุมชน” อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ก่อนจะขยับมาเป็น “นายอำเภอ” อ.แม่วงศ์ จ.นครสวรรค์ และ อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี และ “ปลัดจังหวัดสุพรรณบุรี”

“ผู้ว่าปู” เจริญในหน้าที่ราชการได้เป็นผู้ว่าราชการเริ่มจากจังหวัดพิจิตร-ศีรษะเกษ-สมุทรสาคร  

ผลข้างเคียงจากการติดโควิด-ผ่าตัดสมองเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ “ผู้ว่าปู” ตัดสินใจลาออกจากชีวิตราชการ แต่โชคชะตาไม่อนุมัติ ก่อนที่ฟ้าจะมีตา-ครม.เมื่อวันที่ 24 ส.ค.66 ย้ายไปเป็น “ผู้ว่าอ่างทอง” ใช้ชีวิตบั้นปลายสีกากี ณ บ้านเกิด 

นายมงคล สุระสัจจะ 67 คะแนน 

อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์-อธิบดีกรมการปกครอง และเคยมีมติครม.สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มี “ปูจิ้น” ชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็น “มท.1” แต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 10 ส.ค.53 
อย่างไรก็ตาม ครม.มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.ย.53 ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีประสานกับสำนักราชเลขาธิการเพื่อขอรับเรื่องคืน และให้ชะลอการนำรายชื่อโปรดเกล้าฯ ไว้ก่อน 

เนื่องจากมี “ผู้ถวายฎีกา” โดยอ้างว่าความไม่ถูกต้องชอบธรรมในแง่กฎ ระเบียบและลำดับอาวุโส ต่อมามีข่าวเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจัดทำระบบให้บริการประชาชนทางด้านการทะเบียนและบัตรประชาชนแบบใหม่ เมื่อวันที่ 9 ก.ย.53 ทั้งที่สำนักงานการตรวจการแผ่นดินมีหนังสือแจ้งข้อทักท้วง และมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง 

ระหว่างคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง นายมงคลได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแจ้งความประสงค์ “ขอไม่รับตำแหน่ง” 

สุดท้ายครม.วันที่ 19 ต.ค.53 มีมติทบทวนให้นายมงคลกลับไปเป็นอธิบดีกรมการปกครองตามเดิม และให้นายวิเชียร ชวลิต อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน จากที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมการปกครอง ให้ไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยแทน 

ทั้งนี้ นายชวรัตน์ รมว.มหาดไทยในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ได้เสนอครม.ให้มีมติแต่งตั้ง “มงคล” เป็นประธานบอร์ดการไฟฟ้านครหลวง แทนนายมานิต วัฒนเสน ที่ขอลาออก  

ในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2 “มงคล” ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายทรงศักดิ์ ทองศรี)  

นายธวัช สุระบาล 61 คะแนน

อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ น้องชายนายทวี สุระบาล สส.ตรัง พรรคพลังประชารัฐ “ผู้ว่าธวัช” ใฝ่ฝันอยากเป็น “นายอำเภอ” ตั้งแต่เด็ก จึงขวนขวายเข้าสอบโรงเรียนนายอำเภอ-สมหวังได้เป็น “นายอำเภอ” ในจังหวัดตรัง ก่อนเป็น “ปลัดจังหวัดสระบุรี” และขยับขึ้นมาเป็น รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี

หลังเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2567 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 12/2559 ให้นายธวัช รองผู้ว่าฯราชบุรีขณะนั้น มารักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ แทนนายยุทธนา วิริยะกิตติ ที่โดนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับเดียวกันสั่งให้ดำรงตำแหน่งในสำนักนายกรัฐมนตรี 

ต่อมาได้มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 20/2559 ให้นายธวัช จากเก้าอี้ “ขัดตาทัพ” ผู้ว่าราชการจังหวัดศรสะเกษ ให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าฯศรีสะเกษถาวร” จนเกษียณอายุราชการ 

ช่วงที่นายธวัชเป็นผู้ว่าฯศรีสะเกษฝากผลงานไว้มากมาย เช่น รางวัลเลิศรัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะ “ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ” จนติดตลาดทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม 

นายวร หินดี 60 คะแนน 

อดีตผู้อำนวยการกองคลัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย 

พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา 59 คะแนน 

อดีตผู้ช่วยเจ้ากรมเสมียนตรา อดีตตุลาการศาลทหารสูงสุด สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 

สมัยเป็นรองผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตรวจสองข้อเท็จจริงกรณีมีการร้องเรียนการทุจริตโครงการขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ 

จากผู้ช่วยหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการ ประจำปลัดกระทรวงกลาโหม “พล.ท.สวัสดิ์” ขยับขึ้นมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม-อัตราพลเอก 

สมัยติดยศ “พลตรี” เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.เหรียญพิทักษ์เสรีชน (ฉบับที่ ..) คนที่หนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 55 ปัจจุบัน พล.อ.สวัสดิ์ยังเป็นอุปนายกสมาคมศิษย์เก่าบวรนิเวศ  

พล.ท.สุกิจ ทั่งทอง 28 คะแนน

อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก สมัยติดยศ “พันเอก” เคยรับตำแหน่งเป็น รองผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า (รอง.ผบ.ศม.)   

นายอภิชาติ งามกมล 26 คะแนน

อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ-พี่ชายนายไตรเทพ งามกมล ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย 

เมื่อปี 52 ในยุคที่มี “ปู่จิ้น” ชวรัตน์ ชาญวีรกูล เป็น มท.1 กระทรวงมหาดไทยได้ออกคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 443/2552 ให้ “อภิชาติ” ขยับจากปลัดจังหวัดบุรีรัมย์ มา “รักษาการ” รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ

ต่อมาในปี 53 กระทรวงมหาดไทยออกคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 492/2553 ให้นายอภิชาติ มารักษาการรองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ 

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร 22 คะแนน 

“บิ๊กเปี๊ยก” อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยภูมิ จบนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) รุ่นที่ 37 เพื่อนร่วมรุ่น “พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา” อดีตรอง ผบ.ตร. “คนสนิท” พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีต ผบ.ตร. – รองหัวหน้าคสช. 

เส้นทางชีวิตข้าราชการ เคยดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจภูธร (ผบช.ภ.) ภาค 4 รอง ผบช.ภ.ภาค 6 และ รองผบช.ภ.ภาค 7 คุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน-ตะวันตก และอีสานตอนบน 

อดีตรองผู้บัญชาการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มติครม.เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 60   “รับโอน” จาก “ข้าราชการตำรวจ” มาเป็น “ข้าราชการพลเรือนสามัญ” ในตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และต่อมาครม.ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 61 ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. 

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ ดวงขึ้นสุดขีดในหน้าที่ราชการ หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 57 แต่ก็ต้องมาอยู่ในจุดต่ำสุดสุดขีด เมื่อโดนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 12/2561 ให้พ้นจากเก้าอี้ “เลขาธิการ ปปง.” มาเข้ากรุสำนักนายกรัฐมนตรี-ตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

นายอภินันท์ เผือกผ่อง 16 คะแนน 

อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าสู่เส้นทาง “พ่อเมือง” ตั้งแต่รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม รองผู้ว่าราชการนครราชสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมและผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย 

ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินของนายอภินันท์และคู่สมรส กรณีพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 มีทรัพย์สิน 73,950,825 บาท มีหนี้สินจากเงินกู้ธนาคารและสถาบันการเงิน 16,616,852 บาท ดังนี้

  • เงินฝาก 4 บัญชี 9,440 บาท คู่สมรส 10 บัญชี 471,835 บาท 
  • เงินลงทุน จาก สหกรณ์ออมทรัพย์กรมการปกครอง 941,250 บาท คู่สมรส 2 ล้านบาท จาก บริษัท เอ.พี.เฮลท์ซี จำกัด 10,000 หุ้น บริษัท พิชานันท์ เทรดดิ้ง จำกัด 10,000 หุ้น 
  • ที่ดิน 20 แปลง มูลค่า ณ วันที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ 7,750,000 บาท  คู่สมรส 5 แปลง มูลค่า 12,110,000 บาท ที่ดินส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 4 หลัง มูลค่า 13 ล้านบาท คู่สมรส 4 หลัง มูลค่า 24.65 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบ้านพักอาศัย ห้องชุด และอาคารพาณิชย์ 
  • รถยนต์ ford escape รุ่นปี 2010 จำนวน 1 คัน มูลค่า 4 แสนบาท คู่สมรส รถยนต์เบนซ์ 1 คัน มูลค่า 1.8 ล้านบาท 
  • ทรัพย์สินอื่น มูลค่า 9,640,000 บาท ได้แก่ นาฬิกา 6 เรือน 9.9 แสนบาท อาวุธปืน 2 กระบอก และพระเครื่อง 25 องค์ 8.45 ล้านบาท คู่สมรส มูลค่า 1.1 ล้านบาท คือ พระเครื่อง 8 องค์