“ก้าวไกล”เปิดความเห็น 4 ประเด็น“สุรพล นิติไกรพจน์”ส่งศาลรธน.ค้านยุบพรรค

12 ก.ค. 2567 | 07:46 น.
อัพเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2567 | 07:54 น.

“ก้าวไกล”เปิด 4 ประเด็นความเห็น “สุรพล นิติไกรพจน์” หลังส่งศาลรธน.สู้คดียุบพรรค ฉะกกต.ใช้ช่อง ม.92 พรบ.พรรคการเมือง ทำเกิดผลประหลาดทางกฎหมาย ชี้นโยบายแก้ ม.112 ถูกตรวจสอบแล้วก่อนเลือกตั้ง เตือนสร้างความเกลียดชังทางการเมือง

วันนี้(12 ก.ค. 67)  พรรคก้าวไกล เผยแพร่ความเห็น 4 ประเด็นของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ศาสตราจารย์ทางด้านกฎหมายมหาชน นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษากฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นหนึ่งในพยานของพรรคก้าวไกล ที่ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีที่ กกต.ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล 

โดย ศ.ดร.สุรพลได้ให้ความเห็นต่อคำร้องของ กกต. ใน 3 ประเด็นหลักเกี่ยวกับคดีนี้ ได้แก่ 

1. คำร้องยุบพรรคก้าวไกลของ กกต. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่? การยื่นคำร้องยุบพรรคการเมืองของ กกต. ต้องดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ พ.ร.ป. พรรคการเมือง ม.92 และ ม.93 ซึ่ง ม.92 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง และ ม.93 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดกระบวนการขั้นตอนให้ กกต. ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง “หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคเสียก่อน 

โดย กกต. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเพิ่มเติมไว้ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 

กรณี กกต. มีมติเสนอคำร้องยุบพรรคก้าวไกลนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่กระทำตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ต้องถูกเพิกถอนไป

การใช้การตีความกฎหมาย จะต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกันทั้งระบบและเป็นเอกภาพ ไม่ก่อให้เกิดผลประหลาดในทางระบบกฎหมาย กรณีที่ กกต. เห็นว่า ม.92 คือช่องทางการยื่นยุบพรรคช่องทางหนึ่ง และ ม.93 คืออีกช่องทางหนึ่งนั้น ส่งผลให้วิธีการเสนอคำร้องยุบพรรคมี 2 กระบวนการที่แตกต่างกันอย่างมาก 

กล่าวคือ แบบที่หนึ่ง ไม่ต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้รับทราบข้อกล่าวหา ตลอดจนชี้แจงโต้แย้งพยานหลักฐาน แต่ กกต. สามารถยื่นคำร้องต่อศาล รธน. ได้เลย 

ส่วนแบบที่สอง เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้รับทราบข้อกล่าวหาตลอดจนชี้แจงโต้แย้งพยานหลักฐานต่อ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง 

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วทั้ง 2 มาตราเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคเช่นเดียวกัน ต้องยื่นคำร้องให้ศาล รธน. พิจารณาเช่นเดียวกัน และจะส่งผลร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรคเช่นเดียวกัน  การใช้และตีความกฎหมายเช่นนี้จะก่อให้เกิดผลประหลาดในทางกฎหมาย เช่นนี้แล้วจะบัญญัติ ม.93 และระเบียบ กกต.ฯ ไว้ในกฎหมายเพื่อเหตุผลใด 

กกต.ไม่สามารถอ้างคำวินิจฉัยศาล รธน. ที่ 3/2567 มาเป็นฐานในการยื่นยุบพรรคก้าวไกล โดยจงใจไม่ทำตามกระบวนการขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดได้ เนื่องจากเป็นคนละกรณีที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกทั้งยังมีกระบวนการขั้นตอนนำคดีขึ้นสู่ศาล ตลอดจนผลในทางกฎหมายที่แตกต่างกัน

2. การกระทำตามคำร้องในคดียุบพรรคก้าวไกลเป็นการล้มล้างการปกครองฯ หรืออาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่?

เมื่อพิจารณาการกระทำตามคำร้องในคดียุบพรรคก้าวไกล ซึ่งมีหลายการกระทำที่มิใช่การกระทำของพรรค แต่เป็นการกระทำในฐานะปัจเจกบุคคล หรือ เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ของ ส.ส. เห็นได้ว่า มิได้เป็นการใช้กำลังบังคับ หรือ เป็นการกระทำโดยใช้ความรุนแรงเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสิ้นสุดลง หรือเป็นการกระทำที่ใช้อำนาจตาม รธน. เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปเป็นแบบอื่นแต่ประการใด กล่าวคือ

(1) กรณีการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ม.112 เป็นเพียงการที่ ส.ส. ใช้อำนาจนิติบัญญัติในการเสนอให้รัฐสภาพิจารณาแก้ไขกฎหมายเท่านั้น อันเป็นการกระทำที่ชอบด้วยวิถีทางของ รธน. อีกด้วย วิญญูชนทั่วไปย่อมไม่อาจมีทางที่จะเห็นไปได้โดยสามัญสำนึกว่า การเสนอร่างกฎหมายจะเป็นการบ่อนเซาะทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังที่ กกต. เสนอความเห็นต่อศาล รธน. ได้

(2) กรณีการเสนอนโยบายแก้ไข ม.112 ตลอดจนการนำนโยบายมาหาเสียงและเผยแพร่นั้น เป็นการนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง โดยมุ่งเน้นประนีประนอมกลุ่มความคิดต่างๆ ในเรื่องนี้ ซึ่งก็คือ เรื่องที่ว่าควรจะต้องมีบทบัญญัติคุ้มครองประมุขของรัฐมิให้ถูกหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นในระดับใด และภายใต้เงื่อนไขใดจึงจะเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อประคับประคองระบอบประชาธิปไตยให้ดำรงอยู่ต่อไปได้  

ยิ่งไปกว่านั้น กกต. ก็เคยพิจารณาวินิจฉัยยกคำร้องกรณีนโยบายหาเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติม ม.112 ของพรรคก้าวไกลไว้แล้ว และการนำเสนอนโยบายแก้ไข ม.112 มาใช้หาเสียงเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล ก็มิได้เป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.ป. การเลือกตั้ง ส.ส. แต่อย่างใด ด้วย กกต. ก็มิได้เคยมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือสั่งห้ามนำเสนอนโยบายดังกล่าวในการหาเสียงแต่อย่างใดเลย 

(3) กรณีการแสดงออกผ่านการรณรงค์ การปรากฏตัวในที่ชุมนุมของ ส.ส. ที่เป็นสมาชิกพรรคก้าวไกล มิใช่เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล หากแต่เป็นการใช้เสรีภาพส่วนบุคคลที่ไม่ขัด หรือ แย้งต่อกฎหมาย 

(4) กรณีการเป็นนายประกันให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือการเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย ในคดีตาม ม.112 ของสมาชิกพรรคก้าวไกลนั้น  
เห็นว่า การที่ ส.ส. ใช้ตำแหน่งประกอบคำร้องของปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหา หรือจำเลย มิได้หมายความว่า ส.ส. ผู้นั้นจะเห็นด้วย หรือ สนับสนุนการกระทำของผู้ต้องหา หรือ จำเลย ทำนองเดียวกับการเป็นทนายความหรือผู้พิพากษาแห่งคดีนั้น  

นอกจากนี้ การกระทำของสมาชิกพรรค กับ การกระทำของพรรคเป็นคนละการกระทำกัน หากสมาชิกพรรคถูกกล่าวหาว่า กระทำผิดก็เป็นการกระทำที่ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในการกระทำนั้นเอง ไม่ใช่พรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ หากพรรคต้องมารับผิดด้วยย่อมเกิดผลประหลาดในทางกฎหมาย เพราะเป็นการนำการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มาทำลายเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองของบุคคลอื่นทั้งหมด

3. ศาลรัฐธรรมนูญควรพิจารณาให้ยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่?

มาตรการยุบพรรคการเมืองเป็นมาตรการในการธำรงรักษาประชาธิปไตย แต่กระนั้น การใช้มาตรการนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง มิเช่นนั้นอาจนำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตยในที่สุด 

หากการยุบพรรคเป็นไปโดยไม่คำนึงถึงความชอบด้วยกฎหมายและ รธน. และไม่คำนึงถึงบริบทสภาพแวดล้อมของระบบการเมืองแล้ว อาจส่งผลร้ายในอนาคต อันได้แก่ การทำลายดุลยภาพในทางการเมืองระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล ซึ่งอาจนำไปสู่ระบบเผด็จการรัฐสภา  

คำวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองจึงต้องถูกใช้ในกรณีที่เป็นข้อยกเว้นอย่างแท้จริงเท่านั้น กล่าวคือ เฉพาะกรณีที่การกระทำของพรรคที่ต้องถูกยุบนั้น ขัด หรือ แย้งกับอุดมการณ์พื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และมีการแสดงออกที่ชัดแจ้งว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงด้วยความรุนแรง เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครอง โดยไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่ง รธน. และมีเหตุผลอย่างหนักแน่นว่า ไม่มีหนทางอื่นใดที่จะทำได้นอกจากการยุบพรรคการเมืองนั้น 

สำหรับการกระทำตามคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล ล้วนเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ หรือ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตาม รธน. อันเป็นวิสัยปกติ เป็นการกระทำที่อยู่ในวิถีทางแห่ง รธน. จึงไม่เป็นเหตุแห่งการยุบพรรค

สุดท้าย ศ.ดร.สุรพล ยังเสนอความเห็นเพิ่มเติมต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยว่า การพยายามแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ซับซ้อนของชาติ ด้วยการวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง ที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นกระบวนการที่ได้ใช้มาแล้วหลายครั้ง โดยศาลรัฐธรรมนูญและแต่ละครั้งก็ไม่เคยทำให้เกิดทางออก หรือ ทางเลือกใหม่ ที่จะช่วยคลี่คลายวิกฤตทางการเมืองที่เป็นอยู่ 

ในทางตรงกันข้าม กลับสร้างความโกรธแค้นชิงชังในทางการเมืองให้มีเพิ่มมากยิ่งขึ้น และยิ่งจะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้ว กลับยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น 

ดังนั้น นอกจากประเด็นข้อกฎหมายที่ได้ให้ความเห็นมาแล้วข้างต้นทั้งหมด ข้าพเจ้าใคร่ขอกราบเรียนต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพ ที่จะได้กรุณาใช้มโนธรรมและความรัก ความห่วงใยในประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยโดยรวม ในการวินิฉัยชี้ขาดคดีนี้ด้วยเช่นกัน 

คลิกที่นี่ เพื่ออ่านบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ฉบับเต็ม