เกมยื้อชี้ชะตา“นายกฯ เศรษฐา” – ยุบพรรคก้าวไกล

19 มิ.ย. 2567 | 01:09 น.

เกมยื้อชี้ชะตา“นายกฯ เศรษฐา” – ยุบพรรคก้าวไกล : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4002

KEY

POINTS

 

  • ทั้งคดีถอดถอน “เศรษฐา ทวีสิน”ออกจากตำแหน่งนายกฯ และคดียุบพรรคก้าวไกล มีแนวโน้มที่การตัดสินจะยืดเยื้อออกไป

 

  • คดีถอดถอน “เศรษฐา ทวีสิน” คาดว่าอย่างเร็วที่สุด การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ 

 

  • คดียุบพรรคก้าวไกล ดูท่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” แล้ว น่าจะใช้เวลาอีกพอสมควร กว่าจะนัดตัดสินคดีได้ คาดว่าการลงมติวินิจฉัยน่าจะล่วงเลยไปถึงเดือนสิงหาคม

ผลสรุปยังจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ สำหรับ “ 2 คดีร้อนทางการเมือง” ทั้งคดีถอดถอน เศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคดี “ยุบพรรคก้าวไกล” 

หลังมีความชัดเจนออกมาจาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ซึ่งทั้ง 2 คดียังอยู่ในกระบวนต่าง ๆ ของศาล และมีแนวโน้มที่การตัดสินจะ “ยืดเยื้อ” ออกไป 

10 ก.ค.ศาลถกคดีนายกฯต่อ

โดยเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมพิจารณาคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภา(สว.) 40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล 

เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้หน่วยงาน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และกำหนดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 10 ก.ค. 2567

ทั้งนี้ห่วงระยะเวลา 15 วัน ที่ศาลให้จัดทำความเห็นและจัดส่งสำเนาเอกสารหลักฐานนั้น จะตกประมาณวันที่ 4-5 ก.ค. 2567

                          เกมยื้อชี้ชะตา“นายกฯ เศรษฐา” – ยุบพรรคก้าวไกล

เปิดพยานคู่กรณี2ฝ่าย

ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้ “คู่กรณี” ยื่นระบุบัญชีพยานของทั้งสองฝ่าย โดยฝ่าย 40 สว. ได้ส่ง  3 ส.ว. ประกอบด้วย นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นายสมชาย แสวงการ และ นายประพันธุ์ คูณมี เป็นพยานคดีถอดถอนนายกฯ 

นายดิเรกฤทธิ์ ออกมาระบุว่า ได้มีข้อเสนอแนวทางให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบข้อมูลในเรื่องกฎหมาย และขอบเขตอำนาจหน้าที่ ในการรับสนองพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีว่า นายกฯ ได้ทำหน้าที่สมบูรณ์หรือไม่ 

“หากมีเจตนาทุจริต ก็มีความผิด หรือแม้จะมีเจตนาสุจริต แต่ว่าประมาทเลินเล่อ ทําให้เกิดความเสียหายในการทำหน้าที่ ก็อาจจะทําให้ศาลพิจารณาว่า เป็นความบกพร่องที่จะบ่งชี้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต”

นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า สว.มีคำร้องว่า นายกฯ รู้ถึงคุณสมบัติที่ไม่ซื่อสัตย์ของ นายพิชิต หรือไม่ ได้ถามครบหรือไม่ หรือ การนําเสนอรายงานเพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เขียนอย่างไร รวมถึงความเห็นของนายกฯ ที่ให้ประกอบไป 

“นี่คือหัวใจให้ศาลรับฟังว่า ทีมงานกฎหมายของรัฐบาล ได้เสนอชี้แจงข้อกล่าวหาเหล่านี้ครอบคลุมทั้งหมดหรือไม่ และถือเป็นการชี้แจงเพิ่มเติม ในหลักฐาน และมุมมองของเรา เพื่อเป็นโอกาสให้ศาลได้ไต่สวนในห้องพิจารณาคดี” นายดิเรกฤทธิ์ ระบุ

ส่วน นายเศรษฐา ได้เสนอพยาน 1 คน คือ นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี 

นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ออกมาอธิบายว่า  นายกฯ ส่ง นางณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพราะเป็นบุคคลที่รู้กระบวนการทั้งหมด

“ผมเชื่อว่าเรื่องจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่ศาลจะพิจารณา เพราะอย่างอื่นสามารถพิสูจน์เป็นรูปธรรมได้ เช่น เคยติดคุกหรือไม่ เคยต้องคำพิพากษาหรือไม่ แต่เรื่องมาตรฐานจริยธรรม ไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ หากไม่มีกระบวนการโดยเฉพาะต่างหาก เรื่องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ อยู่ ๆ จะไปบอกว่าใครไม่ซื่อสัตย์สุจริตตามรัฐธรรมนูญ ถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะจะทำให้ขาดคุณสมบัติตลอดชีวิต” นายวิษณุ ระบุ

คดีนี้ ถ้า “เศรษฐา ทวีสิน” หลุดจากตำหน่งนายกฯ คนที่ 30 จะส่งผลให้ “ครม.” ไปทั้งคณะ ต้องเลือกนายกฯ ใหม่ในสภาฯ 

แต่ถ้า “เศรษฐา” รอด ก็จะได้บริหารประเทศต่อไป

คดีนี้การตัดสินคาดว่าอย่างเร็วที่สุด น่าจะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ 

9 ก.ค.ตรวจพยานคดีก้าวไกล

ส่วนคดียุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญปรึกษาคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล 

โดย กกต. ยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อว่า พรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรค ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (2)

ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรค และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค 

ต่อมาวันที่ 12 มิ.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ กกต.ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน ภายในวันจันทร์ที่ 17 มิ.ย. กกต.ได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ฉบับลงวันที่ 14 มิ.ย. 2567 และได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 วันที่ 17 มิ.ย. 2567
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า

1.เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณากำหนดให้บุคคลเสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นล่วงหน้าต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือเพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

2. มีคำสั่งให้นำพยานเอกสารในสำนวนการไต่สวนคดีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 มารวมไว้ในสำนวนคดีนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

3. กำหนดนัดพิจารณาต่อไปในวันพุธที่ 3 ก.ค. 2567

4. กำหนดให้คู่กรณีเข้ามาตรวจพยานหลักฐาน ในวันอังคารที่ 9 ก.ค. 2567

คาดคดีก้าวไกลรู้ผล ส.ค.

คดียุบพรรคก้าวไกล ดูท่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” แล้ว น่าจะใช้เวลาอีกพอสมควร กว่าจะนัดตัดสินคดีได้ 

คาดว่าการลงมติวินิจฉัยน่าจะล่วงเลยไปถึง “เดือนสิงหาคม” โน้นเลยทีเดียว 

คดีนี้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า พรรคก้าวไกล “ไม่น่ารอด” และหากถูกยุบพรรคจริง จะนำไปสู่การตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหา ประมาณ 11 คน ซึ่งมีทั้ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ชัยธวัช ตุลาธน รวมอยู่ด้วย

ที่สำคัญจะเป็น “สารตั้งต้น” นำไปยื่นต่อ ป.ป.ช.ให้เอาผิดจริยธรรมกับ ส.ส. 44 คน ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไข ม.112 ซึ่งได้มีคนไปยื่นคำร้องคาไว้ที่ ป.ป.ช.อยู่แล้ว