“พิธา”ดิ้นสู้ยุบพรรคก้าวไกล ยกคดี ปชป.เทียบ ฉะ กกต.สองมาตรฐาน

30 มิ.ย. 2567 | 07:29 น.

“พิธา”ร่ายยาวสู้ยุบพรรคก้าวไกล เปิด 2 คำถามศาลรธน. ถล่ม กกต. สองมาตรฐาน ตีความมาตรา 92-93 แยกกัน ส่งก้าวไกลขึ้นทางด่วน ยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2553 เทียบ เคยตีตกคำร้องยุบประชาธิปัตย์ เหตุ กกต.ข้ามขั้นตอน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เปิดข่าวถึงแถลงความคืบหน้าการต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ที่อาคารอนาคตใหม่ วันนี้ (30 มิ.ย. 67) ว่า จากการแถลงครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2567 พรรคก้าวไกลมีข้อต่อสู้ทั้งหมด 9 ข้อ ในประเด็นว่าด้วยเขตอำนาจและกระบวนการ ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ 

โดยเน้นย้ำในประเด็นว่า กระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย, คำวินิจฉัยที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ไม่ผูกพันกับการพิจารณาคดีนี้ และโทษยุบพรรค เป็นมาตรการสุดท้าย ที่ใช้เมื่อจำเป็นฉุกเฉินและไม่มีวิธีแก้ไขอื่น

ส่วนการแถลงในวันนี้ เป็นเรื่องความคืบหน้าต่อเนื่อง ซึ่งจะขอเน้นย้ำถึงกระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้กระบวนการยุบพรรค มี“สองมาตรฐาน” เพราะ กกต. อ้างว่าในกรณีของพรรคก้าวไกลใช้แค่มาตรา 92 (พ.ร.ป.พรรคการเมือง) ก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคได้ เพราะ “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า”

ทั้งที่มาตรา 93 เขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องต่อเนื่องจากมาตรา 92 ถ้าตีความอย่างเคร่งครัด คือ ไม่สามารถใช้แยกกรณีกันได้ ถ้าใช้แยกกรณีกันเมื่อใดหมายความว่ามีสองมาตรฐาน ในการยื่นยุบพรรคทันที บางพรรคที่อยากให้เร็วก็ใช้เฉพาะมาตรา 92 แต่พรรคใดที่อยากให้ช้าหน่อยก็ใช้มาตรา 92 ประกอบกับ 93

“ถ้าปล่อยให้ใช้แยกกัน ย่อมหมายความว่าจะเป็นการส่งพรรคก้าวไกลขึ้นทางด่วน แต่พรรคอื่นไปทางธรรมดา เป็นสองมาตรฐานที่ต้องตั้งคำถามว่า กกต. สามารถใช้ดุลยพินิจเช่นนี้ โดยไม่ต้องมีการถ่วงดุลและมีส่วนร่วมได้ด้วยหรือ”

ดังนั้น พรรคก้าวไกลจึงยืนยันว่า กกต. ไม่สามารถตีความมาตรา 92 แยกออกจากมาตรา 93 ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดสองมาตรฐานทันที ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใด ก็ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน และทุกพรรคการเมืองควรได้รับสิทธิในกระบวนการที่ กกต. กำหนดขึ้นมาเอง โดยต้องเปิดโอกาสให้พรรคที่ถูกร้องได้รับทราบข้อเท็จจริง และต่อสู้ทางกฎหมายในชั้น กกต. ไม่สามารถปล่อยให้การยุบพรรคมีสองช่องทางได้  

นายพิธา ย้ำว่า เมื่อ มาตรา 93 ระบุว่า กกต. ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กกต.จึงออกระเบียบเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 92 และ 93 ขึ้น 

โดยสรุปได้ว่า ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องมีโอกาสรับทราบข้อกล่าวหาและโต้แย้งด้วยหลักฐานในชั้น กกต. ซึ่งระเบียบดังกล่าวทำให้คดียุบพรรคก้าวไกล กับคดี ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่เกิดขึ้นก่อนการออกระเบียบดังกล่าวไม่เหมือนกัน

เรื่องนี้ถูกตอกย้ำโดยเอกสารคำอธิบายกระบวนการที่ กกต. จัดทำขึ้นมาเอง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ระบุว่า ในกระบวนการยื่นคำร้องยุบพรรค ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้รับทราบ และมีโอกาสโต้แย้งพยานหลักฐานในชั้น กกต. ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีทางด่วน และทางธรรมดา ทุกอย่างต้องลงมาในกระบวนการเดียวกันทั้งหมด ไม่มีข้อใดที่ระบุว่าเพียง “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” ก็สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องโต้แย้งในชั้น กกต.

นายพิธา ชี้ว่า การทำคำร้องยุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้ กกต. มีวัตถุคดีชิ้นเดียว คือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ซึ่งพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า ไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยคดีนี้ ด้วยเหตุว่า เป็นคนละข้อหากัน เพราะคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นข้อกล่าวหาตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ส่วนคดีปัจจุบันเป็นข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 และ 93 

นอกจากคนละข้อหากันแล้ว ความหนักของโทษก็ต่างกัน คือสั่งให้เลิกการกระทำ กับ สั่งให้ยุบพรรค และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 

การที่ กกต. ออกมาแถลงว่าคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่า และเป็นวัตถุคดีเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกล ได้โต้แย้ง จึงเป็นวัตถุคดีที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

                               พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล

นายพิธา ยังกล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดของคดียุบพรรคก้าวไกล ว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกล ทำบันทึกถ้อยคำภายใน 7 วัน เพื่อตอบ 2 คำถามสำคัญสำหรับใช้ในการนัดพิจารณาครั้งถัดไป คือ วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 และการนัดคู่กรณีมาตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 9 กรกฎาคม 2567

2 คำถามที่พรรคก้าวไกลได้รับมาคือ

1. พรรคก้าวไกลได้โต้แย้งต่อ กกต. ในประเด็นที่พรรคไม่มีโอกาสชี้แจงในชั้นพิจารณาของ กกต. หรือไม่

และ 2. การกระทำตามข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 อาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่

โดยคำถามข้อที่ 1 คำตอบคือ ในเมื่อพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อกล่าวหาและโต้แย้งในชั้น กกต. จะเป็นไปได้อย่างไรที่พรรคก้าวไกลจะเรียกร้อง กกต. ให้ทำตามกระบวนการ อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายใดที่กำหนดหน้าที่ให้พรรคต้องโต้แย้งในกรณีที่ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการ

“เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่มีความคล้ายคลึงกัน คือคดียุบพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ที่ 15/2553 ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยยกคำร้อง เพราะ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการมาแล้ว ด้วยเหตุว่า นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาฯ กกต.) ไม่ได้ทำความเห็นส่งไปยัง กกต. ซึ่งเป็นความผิดพลาดทางเทคนิค ที่น้อยกว่ากระบวนการยุบพรรคก้าวไกลวันนี้ด้วยซ้ำ แต่ศาลก็ยกคำร้อง”

นายพิธา ระบุด้วยว่า ความผิดเพียงเล็กน้อย ศาลยังยกคำร้อง ดังนั้นในกรณีของพรรคก้าวไกล ที่ กกต.ข้ามขั้นตอน ปิดโอกาสในการชี้แจงซึ่งเป็นความผิดพลาดที่มากกว่า ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้นว่า ควรยกคำร้อง” นายพิธากล่าว

ส่วนในคำถามที่ 2 พรรคก้าวไกลตอบไปว่า พรรคไม่สามารถตอบต่อศาลในชั้นนี้ได้ เพราะข้อกล่าวหาคำว่า “การกระทำเป็นการล้มล้างและอาจเป็นปฏิปักษ์” เป็นคนละข้อกล่าวหากับคดี 3/2567 ที่กล่าวหาว่า “ใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ” เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลยืนยันว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ได้ แต่ในเมื่อเป็นคนละข้อหา และเป็นประเด็นใหม่ ก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ในชั้น กกต. ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน 

แต่ในเมื่อ กกต. ปิดประตูใส่ พรรคก้าวไกลก็ไม่มีโอกาสได้ไปชี้แจง ไม่มีช่องทางในการท้วงติง และในเมื่อเป็นประเด็นใหม่และขอบเขตใหม่ ก็ต้องเริ่มต้นด้วยกระบวนการใหม่เท่านั้น 

“ถ้าเกิดมันมีสองมาตรฐานแบบนี้ได้ ถ้า กกต. อยากยุบพรรคไหนเป็นพิเศษ ก็ส่งขึ้นทางด่วน ใช้มาตรา 92 อย่างเดียว พรรคไหนไม่อยากยุบเร็ว อยากประวิงเวลาให้ก็ส่งไปทางธรรมดา ใช้มาตรา 93 เข้ามาช่วย คุณเลือกใช้แบบนี้ไม่ได้ มันทำให้เกิดสองมาตรฐานในประเทศไทย 

รวมถึงไม่สามารถบอกว่า คดีนั้นจบก็ถือว่าเอาคดีนั้น มาผูกพันกับคดีนี้ ถือเป็นหลักฐานอันเชื่อได้ว่า ซึ่งเป็นเรื่องดุลยพินิจล้วนๆ เรื่องที่โทษรุนแรงขนาดนี้ ไม่สามารถที่จะใช้ดุลพินิจโดยไม่มีการถ่วงดุลได้” นายพิธา กล่าว