เขย่าขวัญ “44 ส.ส.ก้าวไกล” ป.ป.ช.ชี้คดีจริยธรรมร้ายแรง“มีมูล”

08 ส.ค. 2567 | 09:10 น.
อัพเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2567 | 09:18 น.

เขย่าขวัญ “44 ส.ส.ก้าวไกล” คณะกรรมการป.ป.ช.ชี้คดีจริยธรรมร้ายแรง อันเกิดจากเสนอแก้ ม.112 “มีมูล” ข้อเท็จจริงปรากฏครบ อยู่ระหว่างไต่สวน ยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ไร้ใบสั่งการเมือง

วันนี้(8 ส.ค. 67) ที่รัฐสภา นายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  และ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาคำร้องที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ยื่นให้พิจารณาจริยธรรม 44 ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

นายนิวัติไชย กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแล้วว่า การตรวจสอบนั้น “มีมูล”เบื้องต้น มีพยานหลักฐานเบื้องต้นตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการจึงมีมติสั่งไต่สวนแล้วทั้ง 44 คน 

ส่วนข้อเท็จจริงอยู่ระหว่างการไต่สวน แต่ยังไม่ได้ให้ผู้ต้องหามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

เมื่อถามว่าได้ประเมินหรือไม่ว่าระยะเวลาของการพิจารณาคดีจะยาวนานถึงเมื่อไหร่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่น่ายาว พอข้อเท็จจริงปรากฏน่าจะครบ อยู่ที่การวินิจฉัยเรื่องข้อกฎหมายถึงเจตนา

เมื่อถามว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นเป็นหลักฐานแนบมาด้วย ถือเป็นเอกสารสำคัญในการประกอบการพิจารณาหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า อาจจะเป็นข้อเท็จจริงหรือพฤติกรรม แต่ต้องให้คณะกรรมการไต่สวนไปพิจารณา ตนขอไม่ก้าวล่วง

เมื่อถามถึงกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ไปยื่นหนังสือขอให้ ป.ป.ช. ไม่จำเป็นต้องไต่สวน เนื่องจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว นายนิวัติไชย กล่าวว่า เรื่องการให้ความเป็นธรรมอยู่ที่ข้อกฎหมาย เพราะเรื่องนี้ต้องจบที่ชั้นศาล ซึ่งศาลต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา  

ดังนั้น การให้ความเป็นธรรมขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน หากใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ก็อาจไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา และขณะนี้พยานหลักฐานยังไม่ครบถ้วนตามข้อกฎหมาย 

เมื่อถามว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ถือว่าเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ นายนิวัติไชย กล่าวว่า หากเป็นความผิดทางอาญา อาจเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรง 

ส่วนที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการเอาผิดทางการเมือง เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่า คิดว่าอยู่ที่ข้อเท็จจริงและหลักฐานมากกว่า เชื่อว่าประชาชนและสื่อมวลชนตรวจสอบได้
ด้านนายเอกวิทย์  กล่าวว่า เนื่องจากมีผู้ถูกกล่าวหาหลายราย แต่ละรายมีข้อเท็จจริงต่างกัน การไต่สวนจึงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ต้องให้ข้อเท็จจริงทั้งที่มีคุณและโทษ เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงได้เต็มที่ 

“กระบวนการยุติธรรมรวบรัดไม่ได้ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ซึ่งคณะกรรมการก็ดำเนินการอยู่ ไม่ได้ล่าช้า แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะแต่ละคนอาจเกี่ยวข้องไม่เหมือนกัน” 

กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อว่า ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นข้อที่ต้องนำมาประกอบการพิจารณา แต่ต้องพิจารณาทุกแง่มุม ทั้งข้อเท็จจริงและกฎหมาย 
“ยืนยันว่าทำงานไม่มีอคติ อยู่บนข้อเท็จจริงและกฎหมาย ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จะให้รวดเร็วได้ดั่งใจไม่ได้ การล่าช้าเป็นการปฏิเสธความยุติธรรม แต่ถ้ารวบรัดเกินไป ความเป็นธรรมก็ไม่เกิด” นายเอกวิทย์ กล่าว

เมื่อถามว่ากรอบเวลาในการดำเนินการพอจะระบุได้หรือไม่ นายเอกวิทย์ ตอบว่า ต้องดูหลักฐานของแต่ละราย และในการจะเชิญแต่ละคนมา บางคนก็ติดธุระ มาไม่ตรงตามเวลาที่เรานัด รวมถึงการขอเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานต่างๆ อาจจะยังไม่ได้รับ แต่ยืนยันว่าดำเนินการไปตามทุกขั้นตอน 

“ไม่มีใบสั่งจากไหน หรือ เข้าข้างพรรคการเมืองฝ่ายใด เราอยู่ในฝั่งที่เป็นกลาง และให้โอกาสทุกฝ่าย ไม่มีใบสั่งทางการเมือง ไม่มีใครมาสั่งผมได้” นายเอกวิทย์ ย้ำหนักแน่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากป.ป.ช.สรุปสำนวนคดีนี้เสร็จแล้ว ต้องส่งฟ้องไปที่ “ศาลฎีกา” โดยโทษตามความผิดจริยธรรมร้ายแรงคือ ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี และ ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ