พรรคประชาชน ส้มเปลี่ยนไป? ไม่เชื่ออย่าลบหลู่!

09 ส.ค. 2567 | 08:26 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2567 | 09:01 น.

พรรคประชาชน ส้มเปลี่ยนไป? ไม่เชื่ออย่าลบหลู่! : ย้อนอดีตเมื่อปี 2531 พรรคประชาชน โดย วีระ มุสิกพงษ์ ปราศรัยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112 ถูกฟ้องศาลฎีกาสั่งจำคุก 4 ปี ในเวลาต่อมาได้ประกาศยุบพรรค ...รายงานพิเศษ โดยฐานเศรษฐกิจออนไลน์

KEY

POINTS

  • 7 ส.ค. 2567 ภายหลังสิ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีคำสั่งยุบพรรค “ก้าวไกล”ได้ปล่อยคลิป ในทันที “ข้าไม่ตาย”
  • ต่อมา 9 ส.ค. 2567 ส.ส. 143 คน ย้ายเข้าสังกัดพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล ที่เตรียมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น พรรคประชาชน โดยมี ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ นำพรรค
  • ย้อนอดีตเมื่อปี 2531 พรรคประชาชน โดย วีระ มุสิกพงษ์ เลขาฯพรรค ปราศรัยหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ม.112 ถูกฟ้องเป็นคดี ศาลฎีกาสั่งจำคุก 4 ปี ในเวลาต่อมาได้ประกาศยุบพรรค

 

ถ้าถอดประเด็นคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 11 คน ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 จะพบว่า ศาลวินิจฉัย ใน 3  ประเด็นหลัก

ประเด็นแรก... มีเหตุสมควรยุบพรรคก้าวไกลตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และ (1) หรือไม่?

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) และวรรรคสอง

ศาลมีมติโดยเสียงข้างมาก (8/1) วินิจฉัยให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยมีตุลาการเสียงข้างน้อย 1 เสียง คือ นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 13 กรกฎาคม 2563 ลงความเห็นว่า ไม่มีเหตุผลต้องยุบพรรค

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 นายบรรจงศักดิ์ เคยเป็นหนึ่งในเสียงข้างน้อยที่เห็นแย้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่  อีกคนที่ยกมือค้านคือ นายนภดล เทพพิทักษ์ อดีตนักการฑูต

ประเด็นที่สอง.... คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคสอง หรือไม่ เพียงใด?

ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในระหว่างวันที่ 25 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค ตามมาตรา 92 วรรคสอง มีกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค 

ประเด็นที่สาม... ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคก้าวไกล ที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่พรรคผู้ถูกร้องถูกยุบ ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560  มาตรา 94 วรรคสอง หรือไม่?

ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์ วินิจฉัยว่า ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคก้าวไกล ไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ตามมาตรา 94 วรรคสอง

สิ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลปล่อยคลิป ในทันที....

"ข้าไม่ตาย!"

"...ในโลกนี้มีบางอย่าง ที่ไม่อาจถูกทำลาย ไม่สูญสลาย มีแต่จะเติบโตต่อไปไม่หยุดยั้ง การเดินทางครั้งใหม่เริ่มขึ้นแล้ว เดินต่อไปด้วยกัน ประชาชน..."

ท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไป ฝั่งหนึ่งเห็นว่า การยุบพรรคก้าวไกล อาจทำให้ “พรรคสีส้ม” เติบโตขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ตายสิบ จะเกิดแสน!

อีกฝั่งหนึ่ง ประเมินว่า การยุบพรรค ตัดสิทธิ์ อาจทำให้พรรคสีส้มชะงักงัน จากการถูกตอนได้   

คืนวันที่ 7 สิงหาคม 2567 พรรคก้าวไกลได้มีการให้ สส.143 คน มาเขียนใบสมัครย้ายเข้าไปอยู่ “พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล” ที่เตรียมการเปลี่ยนชื่อ โลโก้ ใหม่ในชื่อ “พรรคประชาชน” ขาดเพียง 1 คนที่ยังไม่มาเขียนใบสมัคร เป็น สส.บัญชีรายชื่อ 

แสดงถึงการจัดการอย่างมีเอกภาพของแกนนำพรรค ที่ตัดสินใจเดินเกมไปพรรคใหม่ด้วยความรวดเร็ว แตกต่างจากเมื่อปี 2563 ที่มียุบพรรคอนาคตใหม่ แล้วปล่อยเวลาทอดยาวไปกว่า 2 สัปดาห์ 

ทางหนึ่ง เป็นการสกัดกั้นงูเห่า ที่เจรจาต่อรองไปอยู่กับพรรคอื่นได้ง่ายขึ้น 

ทางหนึ่ง เป็นการบอกกับประชาชนว่า สมาชิกพรรคเป็นหนึ่งเดียวกันและมีอุดมการณ์ชัดเจน

ทางหนึ่ง ได้มีการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคคนใหม่ทันที 

คู่ชิงผู้นำยุค 3 พรรคสีส้ม มี 2 คน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เป็นเต็งจ๋ามาตลอด ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่ม “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์-นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” เพื่อชักธงรบกับ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย

แต่แล้วนายใหญ่-ปรมาจารย์ ผู้กำกับพรรคสีส้มอยู่หลังฉาก ได้ส่งสัญญาณให้ลูกทีม เสนอชื่อ ส.ส.เท้ง-นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรค ขึ้นมาแข่งเป็นหัวหน้าพรรค 

ทำให้ต้องมีการประชุมกันยาวร่วม 2 ชั่วโมง และเปิดให้สมาชิกโหวตเลือก ปรากฏ ส.ส.เท้ง-นายณัฐพงศ์ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคสีส้มคนใหม่ แม้ว่าจะมีชนักปักหลังในเรื่องจริยธรรมร้ายแรง ร่วมกับ 44 ส.ส.ที่ติดกับดักมาตรา 112 ในมือ ป.ป.ช.ก็ตาม

นายณัฐพงษ์ ถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เมื่อครั้งตั้งพรรคก้าวไกล ตึกที่ใช้เป็นที่ทำการพรรค ย่านบางแค กทม. เป็นตึกของพ่อนายณัฐพงศ์

ส่วนเลขาธิการพรรคประชาชน คนใหม่ก็ใช่ใคร เป็น “เสี่ยติ่ง-ศรายุทธ ใจหลัก” อดีตผู้อำนวยการพรรคอนาคตใหม่ อดีตผู้อำนวยการพรรคก้าวไกล เพื่อนรักของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ชัยธวัช ตุลาธน”

กรรมการบริหารพรรค ที่เหลือเป็น นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล มือขวานายปิยะบุตร แสงกนกกุล ปรมาจารย์ตั้กม้อแห่งคระก้าวหน้า

นายพิจารณ์  จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า โทรคมนาคม จากสถาบันนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

ช่วงปี 2557-2561 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท พัมคิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่บ้านทำธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าด้านเครื่องมือช่างสำหรับงานก่อสร้างและงานอุตสาหกรรม ภายใต้ชื่อแบรนด์ Pumpkin ขยายธุรกิจไปที่ประเทศจีน และยังทำธุรกิจผลิตและส่งออกน้ำผลไม้กระป๋อง

เข้ามาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ 
ครั้งแรก หลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ได้ย้ายสังกัดไปยังพรรคก้าวไกล ก่อนที่จะไม่ขอลงสมัคร สส.ต่อ เพื่อเปิดทางให้คนอื่นได้เข้ามา แต่ยังคงร่วมงานกับพรรคก้าวไกลในตำแหน่งอื่น

กรรมการบริหารอีก 2 คน คือ นายณัฐวุฒิ บัวประทุม อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ น.ส.ชุติมา คชพันธ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลำดับที่ 35  

                              พรรคประชาชน ส้มเปลี่ยนไป? ไม่เชื่ออย่าลบหลู่!

นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนชื่อพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล เป็น “พรรคประชาชน” ใช้ชื่อย่อว่า "ปชช." ภาษาอังกฤษ  "PEOPLE'S PARTY” ชื่อย่อ  "PP” แต่เครื่องหมายพรรคมีสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยม สีส้ม เหมือนเดิม 

ทว่า มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในรอบนี้คือ ท่าทีของพรรคจากคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคประชาชน คือ เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ 

เหนือกว่านั้นคือคำประกาศว่า พรรคประชาชนยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นิติรัฐ ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม 

การกระจายอํานาจทาง ปกครอง ความหลากหลายทางเพศ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจเสรี การแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรม ปราศจากการผูกขาด 

การพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยคํานึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม การสร้างระบบสวัสดิการ และการสร้างโอกาลให้แก่มนุษย์ในการดํารงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและมี คุณภาพตั้งแต่เกิดจนตาย

พรรคประชาชน เชื่อมั่นว่า มนุษย์มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า มนุษย์มีสิทธิในการใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า และมนุษย์มีความชอบธรรมสูงสุดในการกําหนดอนาคตของตนเองและสังคม  

พรรคประชาชน เชื่อมั่นในความเป็นไปได้ โลกยุคใหม่ สังคมใหม่ และการเมืองแบบใหม่ เป็นไปได้เสมอ

พรรคประชาชน ยืนยันหลักการว่า “ประชาชนเป็นผู้ทรงอํานาจสูงสุด การใช้อำนาจรัฐต้องสัมพันธ์ยึดโยงกับประชาชน”

พรรคประชาชน ในมือ ณัฐพงษ์ และกรรมการบริหารชุดใหม่ จะเดินหน้าไปเช่นไร อยู่ในมือของทายาทสีส้มรุ่น 3 

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เหตุการณ์ในอดีตเทียบกับปัจจุบันแล้ว “หลอน”

ในช่วงปี 2526-2531 พรรคประชาชนมาจากการเข้าเทคโอเวอร์ "พรรครักไทย" ต่อมาในปี 2530 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคประชาชน”

ในปี 2567 พรรคประชาชน มาจากการเข้าเทคโอเวอร์ “พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล”

ต่อมาในการประชุมส.ส.เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคประชาชน”

ในห้วง “เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์-วีระ มุสิกพงษ์” ซึ่งแตกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ ยกทัพสส.ออกมาเข้าพรรคใหม่ทั้งสิ้น 31 คน พอลงรับเลือกตั้งทั่วไปปี 2531 ได้สส.กลับมาเพียงแค่ 19 คน จาก 357 ที่นั่ง ได้รับคะแนนเสียงทั้งหมด 2,454,870 คะแนน เป็นฝ่ายค้าน

มาถึงห้วงปัจจุบัน พรรคสีส้ม ยกทัพจากก้าวไกลเข้าพรรคประชาชน 142-143 คน ลงเลือกตั้งรอบต่อไป จะได้มากี่คน!!!

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ ในคราวการหาเสียงเลือกตั้งปี 2531 นายวีระ มุสิกพงษ์ เลขาธิการพรรค ลงพื้นที่ปราศรัยหาเสียงช่วย นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ ที่อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ถูกฟ้องในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112

ศาลชั้นต้นได้มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม  2530 ให้ยกฟ้อง แต่พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดจริง ให้ลงโทษจำคุก 6 ปี จำเลยยื่นฎีกา 

ในที่สุด ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน  2531 ว่า จำเลยมีความผิดจริง แต่มีเหตุให้บรรเทาโทษ จึงลดโทษ 1 ใน 3 ให้จำเลยต้องจำคุก 4 ปี ที่เรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ 

เมื่อจำคุกได้ประมาณหนึ่งเดือน จึงได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 

ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ พรรคประชาชนในคราวการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2531 หลังจากนั้นเพียง 1 ปี พรรคประชาชนประกาศยุบพรรค เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2532 เพื่อไปรวมกับ “พรรครวมไทย” ของ นายณรงค์ วงศ์วรรณ พร้อมพรรคกิจประชาคม และ พรรคก้าวหน้า โดยศาลฎีกามีคำสั่งให้ยุบพรรค เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2532