วันที่ 14 ส.ค. 2567 นี้ เวลา 09.30 น. ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติ ก่อนอ่านคำวินิจฉัย ในเวลา 15.00 น. ในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) หรือไม่
จากกรณี นายเศรษฐา ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา สิ้นสุดลงได้
คดีนี้ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ “รับคำร้อง” ไว้วินิจฉัย ด้วยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3
โดยตุลาการเสียงข้างมาก 6 เสียง ประกอบด้วย 1.นายปัญญา อุดชาชน 2.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 3.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายนภดล เทพพิทักษ์ และ 6.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
ส่วนตุลาการฯ เสียงข้างน้อย 3 เสียง ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายอุดม รัฐอมฤต และ 3.นายสุเมธ รอยกุลเจริญ
ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ นายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ
โดยตุลาการฯ เสียงข้างมาก 5 เสียง ประกอบด้วย 1.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายนภดล เทพพิทักษ์ 3.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 4.นายอุดม รัฐอมฤต และ 5.สุเมธ รอยกุลเจริญ
ส่วนตุลาการฯ เสียงข้างน้อย 4 เสียง ประกอบด้วย 1.นายปัญญา อุดชาชน 2.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 3.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 4.นายจิรนิติ หะวานนท์
สำหรับแนวทางคำวินิจฉัยของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ออกได้ 2 แนวทางคือ
1.รอด “เศรษฐา ทวีสิน” ได้ไปต่อ
2.ไม่รอด “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ต้องเฟ้นหานายกฯ กันใหม่
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการตัดสินของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” นั้น คาดว่าจะเป็น “บวก” ต่อนายกฯเศรษฐา ซึ่งต้องลุ้นว่า มติจะออกมา เป็น 6 ต่อ 3 หรือ 7 ต่อ 2 เท่านั้น จากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด 9 คน