จุดเปลี่ยนผู้นำประเทศ-หัวหน้ารัฐบาลไทย คนที่ 30 เดินมาถึงทางสองแพร่ง – ชี้ขาดคดีคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี กรณีตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
14 สิงหาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ประธานวุฒิสภาให้ส่งคำร้องขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกหัว-ออกก้อย ฉีกหนีไม่ออกไปจาก 2 ฉากทัศน์
ฉากทัศน์แรก-ไม่รอด หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปในทาง “เป็นโทษ” ต่อนายเศรษฐา ทำให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 นำไปสู่การรีเซตรัฐบาล-ล้างไพ่ใหม่ทันที
กฎหมายรัฐธรรมนูญปี 60 หมวด 8 คณะรัฐมนตรี มาตรา 167 กำหนดให้ “ครม.พ้นทั้งคณะ” และดำเนินการให้มี “ครม.ชุดใหม่” ไม่เกิน 35 คน โดยมาตรา 159 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี
ทว่าเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 159 ไม่ได้บังคับกำหนดระยะเวลาให้สภาผู้แทนราษฎรต้องเลือกคนที่จะมาดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีคนใหม่” ภา่ยในกี่วัน จึงเกิดเป็นสุญญากาศ
อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญมาตรา 168 กำหนดให้ “ครม.ชุดเดิม” อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ยกเว้นนายกรัฐมนตรี จนกว่า “ครม.ชุดใหม่” จะเข้ารับหน้าที่
สำหรับคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 และต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาตรา 88 เฉพาะพรรคการเมืองที่มี สส.ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป ดังนี้
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 หมวด 1 การจัดระเบียบราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี มาตรา 10 วรรคสี่ ระบุว่า
“ในระหว่างที่ครม.ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่เพราะนายกรัฐมนตรีตาย ขาดคุณสมบัติ ต้องคำพิพากษาให้จำคุก สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ ‘ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง’ หรือวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนจากตำแหน่ง
ให้ครม.มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ถ้าไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี หรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ครม.มอบหมายให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทน”
มาตรา 10 วรรคห้า ระบุต่อไปว่า ในระหว่างที่ครม.ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ให้ครม.ดังกล่าวอำนวยความสะดวกให้หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ ดำเนินการใด ๆ ‘เท่าที่จำเป็น’ เพื่อรับแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินจากนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาเตรียมการดำเนินการได้
ฉากทัศน์ที่สอง-รอด หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปในทาง “เป็นคุณ” ต่อนายเศรษฐา “นโยบายเรือธง” ของรัฐบาลก็จะสามารถ “เดินหน้าต่อ” อาทิ โครางการเงินดิจิทัลวอลเล็ต entertainment complex โครงการแลนด์บริดจ์ และนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย แม้กระทั่งโครงการอีอีซี รวมถึงมหกรรมดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ประกอบกับพรรครวมไทยสร้างชาติส่งสัญญาณทวงโควต้ารัฐมนตรีที่ยังว่างอยู่ จึงเปิดทางนำไปสู่การปรับ “ครม.เศรษฐา 3” หลังจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 68 วาระที่สองและวารที่สาม ระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2567
สำหรับตำแหน่งในครม.ที่ว่างอยู่ในขณะนี้มี 2 เก้าอี้ ได้แก่ เก้าอี้ในโควตาของพรรคเพื่อไทย หลังจากนายพิชิต ชื่นบาน ลาอออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
รวมถึงโควตาของพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยมีชื่อของ “เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” เลขาธิการพรรค ซึ่งนายพีระพันธุุ์ สาลีรัฐวิภาค ยอมรับว่าได้เสนอชื่อให้นายเศรษฐาพิจารณาผ่านทางเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในจังหวะเวลาคาบเกี่ยวกันกับฤดูแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการระดับสูงที่จะเกษียณอายุในวันที่ 30 กันยายน 2567 ซึ่งในปีนี้จะมีปลัดกระทรวง อธิบดีและหัวหน้าส่วนราชการหลายตำแหน่งที่จะเข้ามารับตำแหน่งแทน อาทิ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ