วันนี้(14 ส.ค. 67) เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดอ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยกรณี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรมต.สำนักนายกฯ ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170
โดย นายเศรษฐา ได้ส่งคำแถลงปิดคดีแบบลายลักษณ์อักษรถึงศาลรัฐธรรมนูญไป เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2567 เป็นเอกสาร 32 หน้า
สำหรับข้อต่อสู้ของนายกฯ ประเด็นหนึ่งคือ การสู้คดีโดยอ้างถึง “บันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ปี 2560 ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน” เพื่อยืนยันว่า ปัญหาเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของ นายพิชิต ชื่นบาน ที่นายกฯ นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เสนอแต่งตั้งเป็นรมต.สำนักนายกฯ และถูกกลุ่มอดีต สว.ยื่นคำร้องว่า นายพิชิต มีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) เพราะเคยถูกคุมขังจากคำสั่งของศาลฎีกาฯ เป็นเวลา 6 เดือนในคดีถุงขนม
โดยเอกสารระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่า ช่วงที่ กรธ.มีการร่าง รธน.ฉบับปัจจุบัน ปี 2560 โดยในช่วงการยกร่าง มาตรา 160 (4) และ (5) ทางที่ประชุม กรธ.มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ว่า การที่ กรธ.จะบัญญัติมาตรา 160 (4) และ (5) ที่ให้รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่ดี จะพิสูจน์ได้อย่างไร
และสุดท้ายนายมีชัย ประธาน กรธ.ชี้ว่า หากมีข้อสงสัยในเรื่องการขาดคุณสมบัติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และยังอ้างอีกว่า จากบันทึกการประชุมดังกล่าว นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการ กรธ.ที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบัน ได้กล่าวในที่ประชุม กรธ. ว่า ร่างมาตรา 160 (4)และ(5) ถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับคุณสมบัติรัฐมนตรีที่ควรมี แต่ในทางกลับกัน อาจเป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งทางการเมือง จนทำให้มีคำร้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญจำนวนมาก ทำให้ศาลฯ กลายเป็นศาลการเมืองไปโดยปริยาย
จากบันทึกการประชุมของ กรธ.ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า เจตนารมณ์ของ รธน. มาตรา 160 (4)และ(5) สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ว่าการวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา160 เป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลฯ ทำให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกับตัวนายกฯ จึงไม่อาจตรวจสอบและชี้ขาดประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เอง
นอกจากนี้นายกฯ ยังได้ระบุถึงประเด็นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ว่า สำหรับ ตัวนายพิชิต ชื่นบาน ที่เป็นผู้ถูกร้องที่สองในคดีดังกล่าว แต่ นายพิชิต ได้ลาออกไปก่อนศาลฯ รับคำร้องทำให้ นายพิชิต จึงไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ถูกร้องในชั้นศาล
นายกฯ ระบุว่า เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ก็ต้องมีหลักการพิจารณาเช่นเดียวกัน ซึ่งพฤติกรรมของผู้ถูกร้องที่สอง (พิชิต ชื่นบาน) กรณีละเมิดอำนาจศาล เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 15 ปีแล้ว และเกิดก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ จึงควรต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
ประกอบกับตนเอง (นายกรัฐมนตรี) มีภูมิหลังในการประกอบอาชีพทางธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด ไม่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ จนไม่อาจชี้ขาดได้ว่า นายพิชิต เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ผู้ถูกร้องในฐานะนายกฯ ต้องคำนึงถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เช่นนัยของมาตรา 29 ซึ่งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ว่าบุคคลใดได้กระทำผิด เมื่อผู้ถูกร้องยังไม่ได้ถูกวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5)
ผู้ถูกร้องที่หนึ่ง (นายกฯ) จึงได้ตัดสินใจไปโดยความสุจริต ตามประเพณี และข้อพึงปฏิบัติทางการเมือง โดยไม่ถือไปก่อนว่าผู้ถูกร้องที่สอง ไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ อันจะทำให้ผู้ถูกร้องที่สอง มีลักษณะต้องห้ามไปตลอดชีวิต โดยที่ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว
ดังนั้น การดำเนินการแต่งตั้ง นายพิชิต เป็นรัฐมนตรี เมื่อ 27 เมษายน 2567 เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางราชการ ภายใต้ความไว้วางใจทางการเมือง และข้อตกลงทางการเมืองที่พรรคร่วมรัฐบาลมีต่อกัน โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้ถูกร้องที่หนึ่งดำเนินการโดยถูกต้องแล้ว
นายกรัฐมนตรี ยังได้สรุปว่า การกระทำทั้งหมดตามคำร้อง (กลุ่ม40 สว.) มีที่มาจากข้อกล่าวหาที่เป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลของ นายพิชิต ซึ่งศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้อง และจำหน่ายคดีในส่วนของ นายพิชิตไปแล้ว
และผู้ถูกร้องที่หนึ่ง(นายกฯ) ควรต้องรับผิดเฉพาะเหตุที่เกิดจาก 1.การขาดคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามที่เกิดจากการกระทำของตัวนายกรัฐมนตรีเองโดยแท้ หรือ 2. การรู้เห็นหรือรับรู้ การขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ของบุคคลอื่นอย่างชัดแจ้ง แต่ยังคงดำเนินการต่อไป
ดังนั้นในคดีนี้ ไม่ว่า นายพิชิต จะขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามการเป็น รมต.ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ไม่ได้ส่งผลให้ตัวนายกรัฐมนตรี ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีตามไปด้วย เพราะตนเอง และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ดำเนินการตามวิธีการ และขั้นตอนในการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี ตามที่ได้ปฏิบัติกันมาตลอด
“อีกทั้งความผิดของผู้ถูกร้องที่สองคือ นายพิชิต ยังเสมือนเป็นความผิดประธาน ซึ่งในขณะที่มีการเสนอชื่อ นายพิชิต เป็นรัฐมนตรี ก็ยังไม่ได้มีการวินิจฉัยความผิดประธานโดยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีของตนเอง ในฐานะผู้ถูกร้องที่หนึ่ง จึงเปรียบเสมือนเป็นความผิดอุปกรณ์ จึงไม่อาจมีไปด้วยได้”
นายกฯ ระบุในคำชี้แจงด้วยว่า ตนเองได้ประกอบสัมมาชีพโดยสุจริต ในธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ มีประสบการณ์ในการทำงานหลากหลาย แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความมุ่งหวังให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า การได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา ถือเป็นเกียรติยศ เป็นสิริมงคล ที่สร้างความภาคภูมิใจสูงสุด
“ขอศาลโปรดให้ความเป็นธรรม ต่อผู้ถูกร้องตามหลักความได้สัดส่วน ความสมเหตุสมผลแห่งเหตุ และสอดคล้องกับความไว้วางใจที่สมาชิกรัฐสภา มีมติเห็นชอบให้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ได้ต่อเนื่องต่อไป โดยมีคำวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง(4) ประกอบมาตรา 160(4)และ(5)” คำชี้แจงของนายกฯเศรษฐา ระบุ