คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของไทย สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) จากกรณีเสนอชื่อนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ขาดคุณสมบัติ ส่งผลให้วาระการดำรงตำแหน่งของนายเศรษฐาสิ้นสุดลงที่ 358 วัน นับจากวันที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 22 ส.ค. 2566
ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” ได้ผลักดันนโยบายสำคัญหลายประการ โดยเฉพาะการแสดงบทบาทเป็น เซลล์แมน เดินทางไปโรดโชว์ พบปะกับผู้นำต่างประเทศ และบริษัทใหญ่ ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังได้ผลักดันมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการลดรายจ่าย ปรับลดค่าไฟฟ้า ตรึงราคาน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร นโยบายวีซาฟรี 93 ประเทศ
อีกนโยบายที่สำคัญและถูกพูดถึงอย่างมากคือ โครวงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่ “เศรฐา” พยายามปลดล็อกข้อจำกัดและเงื่อนไขต่างๆ โดยเฉพาะงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการจนสุดท้าย ได้ปลดล็อกด้วย การใช้เงินจากงบประมาณปี 2567 และงบประมาณปี 2568 รวม 4.5 แสนล้านบาท เพื่อแจกให้กับ 45 ล้านคน
นั่นคือ งบประมาณปี 2567 ทั้งการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 122,000 แสนล้านบาท และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 43,000 ล้านบาท โดยไม่ใช่แค่งบกลางอย่างเดียวและงบประมาณปี 2568 วงเงิน 152,700 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณางบประมาณ และการบริหารจัดการงบประมาณอีก 132,300 ล้านบาท
ไม่รวมนโยบายการจัดตั้งสถานบันเทิงครบวงจร ด้วยการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. .... หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์” ซึ่งจะเปิดทางให้มีการจัดตั้งกาสิโนถูกกฎหมายในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
“เศรษฐา ทวีสิน” ได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย ด้วยมติ 482 ต่อ 165 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ทีผ่านมา หากนับจนถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2567 นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 358 วัน
แต่หากนับจากวันที่รับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เมื่อวันที่23 สิงหาคม 2566 นายเศรษฐาเป็นนายกฯมาแล้ว 357 วัน
“เศรษฐา” เป็นนักธุรกิจ อดีตประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน ) ปัจจุบันอายุ 62 ปี มีชื่อเล่น “นิด” เป็นบุตรคนเดียวของร้อยเอกอำนวย ทวีสิน กับชดช้อย (สกุลเดิม: จูตระกูล)
ในด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับแพทย์หญิงพักตร์พิไล (สกุลเดิม: ปลัดรักษา) หรือ "หมออ้อม "มีบุตร 3 คน คือ นายณภัทร ทวีสิน "น้อบ", นายวรัตม์ ทวีสิน “แน้บ” และคนเล็กสุด นางสาวชนัญดา ทวีสิน “นุ้บ"”
“เศรษฐา” สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาแคลร์มอนต์ ( Claremont Graduate University) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโทในปี พ.ศ. 2529 เข้าทำงานที่ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เป็นเวลา 4 ปี ต่อมาได้ย้ายไปทำงานที่ บจก.แสนสำราญ ของอภิชาติ จูตระกูล ลูกพี่ลูกน้องของเขา
หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อบริษัท เป็น บมจ.แสนสิริ โดยเขาได้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทดังกล่าว
บทบาทด้านนักธุรกิจที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เศรษฐา เป็นผู้นำทางความคิดที่ขับเคลื่อนแนวคิดใหม่ๆ ให้กับวงการอสังหาฯบ้านเราไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในแวดวงอสังหาฯ (Prop Tech) การผลักดันเรื่องความเท่าเทียมในสังคมและองค์กร จนแสนสิริได้เป็นหนึ่งในองค์กรต้นแบบด้านความเท่าเทียม ไปจนถึงการตั้งเป้าให้แสนสิริเป็นองค์กร Net-zero ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ผลการดำเนินงานของ บมจ.แสนสิริ (SIRI)
ปี 2565 ทำกำไรสุทธิทุบสถิติสูงสุดในรอบ 38 ปี ทะลุ 4,280 ล้านบาท เติบโต 112% จากปี 2564 โดยมีรายได้รวม 34,983 ล้านบาทเพิ่มขึ้น +18% จากปี 2564 ขณะที่ไตรมาสแรกปี 2566 บมจ.แสนสิริ ทำกำไรสุทธิ 1,582 ล้านบาท เติบโต 423% จากไตรมาสเดียวกันของปี 2565 โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 8,505 ล้านบาท เติบโต YoY ที่ 63%
ในการชุมนุม พ.ศ. 2556–2557 เศรษฐาแสดงความไม่เห็นด้วยกับพฤติการณ์ของ กปปส.ต่อมาหลังรัฐประหาร พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกคำสั่งเรียกให้เขาไปรายงานตัว ณ หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์
ช่วงเกิดการระบาดทั่วของโควิด-19 และการประท้วงซึ่งนำโดยกลุ่มเยาวชน เป็นอีกครั้งที่ "เศรษฐา" ได้วิจารณ์การบริหารสถานการณ์ดังกล่าวของรัฐบาล ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เขาได้ประกาศว่าตนได้สมัครเป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขา
ต่อมาในเดือนมีนาคมปี 2566 พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งเป็น "ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวของพรรคเพื่อไทย" โดยเป็นที่ปรึกษาให้กับแพทองธาร ชินวัตร จากนั้นเขาได้ลาออกจากแสนสิริ โดยไม่รับเงินเดือน
หลังก้าวเข้าสู่การเมือง “เศรษฐา”โอนหุ้นที่เคยถืออยู่ในบริษัทจำนวน 13 แห่ง ให้บุคคลอื่น รวมถึงชนัญดา บุตรคนเล็กของเขาอีกด้วย โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจเตรียมพร้อมทำงานการเมืองในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย
ตอนหนึ่งในจดหมายที่เปิดผนึกถึงเพื่อพนักงานเครือแสนสิริ ลงวันที่ 8 มี.ค. 2566 “เศรษฐา” ระบุถึงความตั้งใจในการเข้ามาเข้าบริหารประเทศ โดยมุ่งมั่นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศ ว่า
“ผมมีความตั้งใจที่จะนำประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ มาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้มุ่งไปข้างหน้า เร่งพัฒนาให้ประเทศไทยกลับมายิ่งใหญ่ในสายตาประชาคมโลก และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และโอกาส มุ่งมั่นที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ที่น่าอยู่ยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับคนไทยทุกคน รวมถึงแขกที่มาเยือนจากทั่วโลก และเพื่อทุ่มเทให้กับหน้าที่ใหม่นี้ ผมตัดสินใจที่จะลางานชั่วคราวโดยไม่ขอรับค่าตอบแทน เพื่อไปลงมือทำงานพัฒนาประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น และสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ"
หลังจากวางมือบทบาทนักธุรกิจแล้ว เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เดินหน้าขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง โดยชูนโยบาย"ไฮไลท์"ของพรรค ฯ นั่นก็คือ นโยบาย“กระเป๋าเงินดิจิทัล แจกเงิน 1 หมื่นบาท” ให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาในขณะนั้น เป็นอย่างมาก
การสิ้นสุดวาระของรัฐบาลชุดนี้ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น
เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับการเมืองไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเข้มงวด และผลกระทบของความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองต่อการพัฒนาประเทศ