วันนี้ (14 ส.ค.67) เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) หรือไม่
จากกรณี นายเศรษฐา ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ หรือ ควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา สิ้นสุดลงได้
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 ) ส่งผลให้ นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 และ ครม.พ้นไปทั้งคณะ
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ “รับคำร้อง” ไว้วินิจฉัย ด้วยมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 โดยตุลาการเสียงข้างมาก 6 เสียง ประกอบด้วย 1.นายปัญญา อุดชาชน 2.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 3.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายนภดล เทพพิทักษ์ และ 6.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
ส่วนตุลาการฯ เสียงข้างน้อย 3 เสียง ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายอุดม รัฐอมฤต และ 3.นายสุเมธ รอยกุลเจริญ
ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ นายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ
โดยตุลาการฯ เสียงข้างมาก 5 เสียง ประกอบด้วย 1.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายนภดล เทพพิทักษ์ 3.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 4.นายอุดม รัฐอมฤต และ 5.สุเมธ รอยกุลเจริญ
ส่วนตุลาการฯ เสียงข้างน้อย 4 เสียง ประกอบด้วย 1.นายปัญญา อุดชาชน 2.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 3.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 4.นายจิรนิติ หะวานนท์