“วิษณุ” เผยอำนาจ ครม.รักษาการ ตั้งบิ๊กข้าราชการ-อนุมัติงบได้

15 ส.ค. 2567 | 09:52 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2567 | 09:56 น.

“วิษณุ เครืองาม” แจงอำนาจหน้าที่ ครม.รักษาการ ละเอียดยิบ ยอมรับแตกต่างจากช่วงยุบสภา แม้สุญญากาศนายกฯ แต่ยังแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงได้ อนุมัติงบประมาณได้ตามสมควร

วันนี้ (15 สิงหาคม 2567) นายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายให้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ว่า ที่ประชุมครม.ได้มอบให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่การมอบหมายให้รักษาการแทนเหมือนกรณีที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปต่างประเทศ แล้วมอบหมายรองนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่แทน

 

ายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

 

ขณะเดียวกันยังเห็นชอบการทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะมี 2 ระดับคือ ระดับนายกรัฐนตรี และระดับรัฐมนตรี โดยตำแหน่งใดก็ตามที่อดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ได้แต่งตั้งไว้เป็นข้าราชการการเมือง เช่น เลขาธิการ รองเลขาธิการ โฆษก ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ช่วยรัฐมนตรี และผู้แทนการค้าไทย รวมทั้งตำแหน่งการเมืองต่าง ๆ ที่นายกฯ ตั้งไว้ เป็นอันพ้นตำแหน่งทั้งหมด และจะจ่ายเงินเดือนสุดท้ายเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา 

ส่วนกรณีของรัฐมนตรี ซึ่งแต่งตั้งเลขา ที่ปรึกษา ด้วยรัฐมนตรีเอง ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป ขณะที่คณะกรรมการต่าง ๆ ที่นายกฯตั้งไว้ก่อนหน้าที่ตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เช่น กรรมการที่ปรึกษา และคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล จะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย แต่อย่างไรก็ดีในตำแหน่งวิปรัฐบาล นั้น ที่ประชุมเห็นว่ามีความสำคัญ จึงแต่งตั้งขึ้นใหม่ให้เกิดความต่อเนื่อง โดยเป็นบุคคลที่อยู่ในวิปรัฐบาลชุดเดิม

นายวิษณุ กล่าวว่า ในส่วนของการทำงานของคณะรัฐมนตรี ที่ประชุมยังมีมติว่า เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือการรักษาการในตอนนี้ แตกต่างจากช่วงยุบสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดว่า ในช่วงของการรักษาการนั้นการแต่งตั้งข้าราชการไม่ได้ ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือไม่สามารถใช้งบประมาณผูกพันไม่ได้ แต่กรณีครม.สิ้นสุดลง เพราะนายกฯพ้นตำแหน่งในครั้งนี้ ไม่มีข้อห้าม 

ดังนั้นจึงสามารถทำได้ โดยเฉพาะการแต่งตั้งข้าราชการในตำแหน่งสำคัญที่กระทรวงต่างๆ เสนอมายัง ครม.แต่งตั้งแล้ว ก็สามารถนำเสนอรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป ส่วนคนที่จะมาใหม่ ก็สามารถแต่งตั้งได้ เพราะใกล้กับปีงบประมาณ ไม่เช่นนั้นจะต่อกันไม่ติด เช่นเดียวกับกฎหมายอะไรที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ก็สามารถเดินต่อได้ตามปกติ แต่เรื่องใหญ่ ๆ ก็ต้องรอมติครม. หรือนโยบายรัฐบาลใหม่ก่อน เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เป็นต้น 

"การอนุมัติโครงการของครม. สามารถทำได้ ซึ่งในการประชุมครม.ครั้งนี้ได้ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ที่ทำมาหลายครั้ง เหลืออีกนิดเดียวจะจบเรื่องแล้ว ในการอนุมัติงบประมาณก็หารือว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนจำเป็นก็ให้ทำได้ หรือเงินช่วยเหลือสงเคราะห์เด็ก ที่ใช้งบประมาณก็ทำได้ตามปกติ" นายวิษณุ ระบุ

ส่วนการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน คณะรัฐมนตรีที่สิ้นสุดลง ที่ประชุมครม.เห็นว่ายังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. แต่ให้ยื่นเมื่อครม.ชุดใหม่เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว แต่ถ้าหากกลับมาเป็นรัฐมนตรีใหม่ภายใน 30 วัน แม้จะเปลี่ยนตำแหน่งก็ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. เหมือนช่วงครม.ประยุทธ์ 2 แต่ก็สามารถยื่นตามความสมัครใจได้