KEY
POINTS
ภายหลังรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2567 อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงความชัดเจนของโครงการ “แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท” ยังเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย(พท.) หรือไม่ ท่ามกลางกระแสข่าว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สั่งให้ล้มโครงการนี้
น.ส.แพทองธาร ขอตอบอย่างแรกก่อนว่า นายทักษิณไม่ได้สั่งให้ล้มดิจิทัล วอลเล็ต เพราะไม่ว่าจะนโยบายอะไรเราต้องปรึกษากับทางพรรคร่วมรัฐบาล ขอให้แยกบทบาทนิดนึง
“เข้าใจดีว่า นายทักษิณ คงไม่สามารถลบภาพทางการเมืองออกได้ เพราะเป็นคนที่หลายคนในที่นี้เคารพนับถือ เพราะฉะนั้นก็อาจจะมีคนขอคำปรึกษาตามประสบการณ์ที่ท่านมี”
น.ส.แพทองธาร ชี้แจงว่า ในส่วนนโยบายของดิจิทัล วอลเล็ต ขอเริ่มจากความตั้งใจก่อน ความตั้งใจของการทำดิจิทัล วอลเล็ต คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ
“อุ๊งอิ๊ง”เดินหน้ากระตุ้นศก.
“แน่นอนว่าปีที่แล้ว ที่เราหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ดิจิทัล วอลเล็ตนั้น การที่เราศึกษาและสังเคราะห์นโยบายมาอย่างดีแล้ว ในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย สภาพเศรษฐกิจประเทศเปลี่ยนแปลงไป เราจะต้องศึกษาและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม แน่นอนว่าจะต้องอยู่ในระเบียบ ของพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ด้วย นี่คือสิ่งที่ต้องทำต่อไป แต่ว่าในเนื้อหารายละเอียดจะต้องมีความชัดเจนและได้ฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง
“เป้าหมาย คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นความตั้งใจนี้ยังต้องอยู่แน่นอน” น.ส.แพทองธาร ย้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงาน ยอดการเปิดลงทะเบียนแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านแอพพลิเคชัน ทางรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 -15 ส.ค. 2567 มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 30 ล้านคน ซึ่งผู้เข้าข่ายยังสามารถลงทะเบียนได้ถึง 15 ก.ย. 2567 นี้
ย้ำเงินดิจิทัลหัวใจกระตุ้นศก.
ขณะที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวเมื่อวันที่ 20ส.ค. 2567 ถึงโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะมีการปรับนโยบายหรือไม่ หลังมีนายกฯ คนใหม่ ว่า ขณะนี้นายกฯ กับฝ่ายเศรษฐกิจ กำลังพูดคุยกันถึงแนวทาง ซึ่งความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องมีแน่นอนและต้องทำอย่างเร็ว ช้าไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจไหลลง ยิ่งไหลลงเท่าไหร่ก็ยิ่งดึงขึ้นมายากเท่านั้น ตอนนี้กำลังวางแผนอยู่ หลังจากที่ทำงานได้แล้วก็คงจะมีการสั่งการทันที
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนายทักษิณ นั้น เห็นว่า ดิจิทัลวอลเล็ต มี 3 เรื่อง คือ 1. การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องทำ 2. การให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อจะใช้ประโยชน์ในโอกาสต่อไปข้างหน้า ซึ่งก็ต้องทำต่อไป แต่ความเร่งด่วนอาจรอได้
3. อนาคต เมื่อวางโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไว้แล้ว จะสามารถใช้ประโยชน์ได้กับประชาชนและประเทศ ให้ประชาชนกับรัฐบาลติดต่อเชื่อมกันได้ทางเศรษฐกิจ และเป็นช่องทางให้ประชาชนใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นเรื่องของเทคนิคที่ต้องมีต่อไป
“โดยเรื่องที่ 2 และ 3 นั้นรอได้แต่ 1 รอไม่ได้ สำหรับในรูปแบบจะอิงเทคโนโลยีบ้างหรือไม่อิงบ้างก็ได้ แต่ต้องถูกกฎหมายและไม่ขัดแย้งกับคนที่เห็นต่าง เยอะจนเกินไป” นายทักษิณ ระบุ
ส่วนโครงการอาจเปลี่ยนแปลงแต่การอัดฉีดยังคงมีเหมือนเดิมใช่หรือไม่นั้น นายทักษิณ กล่าวว่า จะมีการอัดฉีด เท่าที่เห็นนายกฯ คุยกับฝ่ายงบประมาณ คือ ควรจะต้องทำ แต่การตัดสินใจเป็นเรื่องของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี
ส่วนถ้ามีการเปลี่ยนเป็นการแจกเงินสด จะเป็นการตอบโจทย์ ประชาชนมากกว่าหรือไม่ นายทักษิณ ชี้ว่า ข้อดีของการแจกเงินสด คือเร็ว แต่ข้อเสียคือ กลัวจะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เต็มที่
พท.รักษาสัญญาแจกเงินหมื่น
แกนนำพรรคเพื่อไทยอีกคน ที่ออกมาตอกย้ำความจำเป็นต้องเดินหน้า “แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต” ก็คือ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ที่กล่าวไว้เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2567 ว่า รัฐบาลจะเดินหน้าให้บรรลุวัตถุประสงค์ แต่จะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขตามสถานการณ์ให้ได้เหมาะสมกับและข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มี เพื่อให้เหมาะสม ให้ทุกคนสบายใจ จุดมุ่งหมายที่วางไว้ต้องพึ่งกำลังซื้อกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่
โดยความชัดเจนทั้งหมดของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะมีหลังจากที่โปรดเกล้าฯ และถวายสัตย์ฯ เรียบร้อย ซึ่งต้องดำเนินการภายใน 15 วัน หลังแถลงนโยบายต่อสภาทั้งหมด
“อะไรที่พรรคเพื่อไทย(พท.) พูดกับประชาชนไว้เรารักษาสัญญา อะไรที่ทำได้เราทำเต็มที่ เพื่อไทยตัดสินใจอย่างไรไม่เคยทิ้ง เดินหน้าตามนี้ในทางปฏิบัติที่วิพากษ์วิจารณ์มา เราจะรับข้อวิพากษ์วิจารณ์ไปปรับ มาตรการอื่นเป็นหน้าที่ที่ต้องคิดอยู่แล้ว จะไปดูรายละเอียดต้องทำให้ประชาชนพอใจแน่นอน และให้เพราะวัตถุประสงค์ครบถ้วน ไม่ลดขนาดโครงการพูดไว้อย่างไรก็ทำอย่างนั้นให้ฟังรัฐบาล” นายภูมิธรรม ย้ำหนักแน่น
ย้อนสัญญาพท.แจกเงินหมื่น
การแจก "เงินดิจิทัล 10,000 บาท" เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ที่เคยหาเสียงไว้ในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 และผู้ที่ประกาศเรื่องนี้ในการหาเสียง ก็มีทั้ง “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” แคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 1 และ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกฯ ลำดับที่ 2 ของพรรคเพื่อไทย โดยได้หยิบยกนโยบายนี้ ขึ้นหาเสียงในหลายเวที อาทิ
เมื่อช่วงเย็นวันที่ 5 เม.ย. 2566 ที่ธันเดอร์โดม สเตเดียม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พรรคเพื่อไทยจัดงานปราศรัยใหญ่ ภายใต้แนวคิด “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ตอน One Team for all Thais : หนึ่งทีมเพื่อไทยทุกคน”
นายเศรษฐา ปราศรัยช่วงหนึ่งว่า “เราเห็นความไม่เท่าเทียมตั้งแต่วัยเด็ก และยังอยู่จนถึงทุกวันนี้ ปัญหาเหล่านี้เป็นตัวจุดประกายให้ผมตัดสินใจอาสาเข้ามาแก้ปัญหาในฐานะผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย ในนามพรรคเพื่อไทย ด้วยความตั้งใจแรก ยกระดับเศรษฐกิจทั้งประเทศ ด้วยมาตรการกระตุ้นที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีกระเป๋าเงินดิจิทัลเติมเงิน 10,000 บาท ให้คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับครัวเรือนถึงมหภาค”
ถัดมา วันที่ 8 เม.ย. 2566 พรรคเพื่อไทยปราศรัยคิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตน่าน อ.เมือง จ.น่าน
นางสาวแพทองธาร ทักทายพี่น้องชาวน่านผ่านทางระบบ zoom ขอแรงสนับสนุนพรรคเพื่อไทย พร้อมระบุว่า พรรคเพื่อไทยได้ศึกษา หาข้อมูลออกมาเป็นนโยบายที่จะเป็นทางออกให้พี่น้องประชาชนเอาไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเติมเงินในกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นทุกคน ให้คนไทยกลับมาอยู่ดีกินดีอีกครั้ง อีกแค่อึดใจเดียวในวันที่ 14 พ.ค. ขอแรงจากชาวน่านเลือกพรรคเพื่อไทย เบอร์ 29 และเลือกส.ส. เขตน่าน ทั้ง 3 เขต ให้แลนด์สไลด์ทั่วน่าน ทั้งคน ทั้งพรรค”
ส่วน นายเศรษฐา ปราศรัยว่า มั่นใจว่าจะสามารถทำความฝันของคนน่าน และคนไทยให้เป็นจริง นำพาคนไทยหลุดพ้นจากหลุมดำความยากจน ด้วยนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่โดนใจ ทั้งกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ในรัศมี 4 กิโลเมตร ถ้าครอบครัวมี 4-5 คนเท่ากับมีเงิน 4-5 หมื่นบาท เพียงพอไปสร้างอาชีพหรือตั้งตัวได้ ต่างจากรัฐบาลปัจจุบันที่มาหยอดน้ำข้าวต้ม ทีละ 500-1,000 บาท
“หลังประกาศออกไป มีหลายพรรคการเมืองตั้งคำถามว่าทำได้จริงหรือไม่ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า นี่คือนิมิตหมายที่ดีว่าเป็นนโยบายที่โดนใจ พรรคเพื่อไทยทำได้แน่นอน”
ล้มแจกเงิน"เพื่อไทย"ฆ่าตัวตาย
ต่อมา วันที่ 10 พ.ย. 2566 นายเศรษฐา เปิดแถลงข่าวความชัดเจนนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ที่มีเงื่อนไขผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท/เดือน และมีเงินฝากรวมทุกบัญชีต่ำกว่า 500,000 บาท มีรัศมีการใช้จ่าย 4 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้จ่ายให้หมดภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ได้รับเงิน
...นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทย เคยหาเสียงไว้ จนสามารถกวาด สส.เข้าสภาได้ถึง 141 ที่นั่ง ได้คะแนนบัญชีรายชื่อถึง 10,962,522 คะแนน ซึ่งต้องยอมรับว่าการ “แจกเงิน 10,000 บาท” เป็นนโยบายที่ “โดนใจ” ประชาชน จึงสามารถรั้งคะแนนบัญชีรายชื่อไว้ได้เกือบ 11 ล้านเสียง
หากไม่สามารถทำตามสัญญาประชาคม ที่เคยให้ไว้กับประชาชนที่ลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทย ความเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับพรรคแน่นอน อาจจะถือว่าเป็นการ “ฆ่าตัวตายทางการเมือง” เลยก็ว่าได้
ดังนั้นการ “แจกเงินดิจิทัล 10,000” พรรคเพื่อไทยไม่มีวันล้มโครงการแน่นอน 100%