ดร.เอ้ ได้กลิ่นคล้าย “น้ำท่วมปี 54” ประชาธิปัตย์เปิดวอร์รูม “วิกฤตอุทกภัย”

25 ส.ค. 2567 | 10:04 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ส.ค. 2567 | 10:22 น.

ประชาธิปัตย์ เปิดวอร์รูม ติดตาม เฝ้าระวัง รับแจ้งเหตุสถานการณ์ “วิกฤตอุทกภัย” ผ่านโซเชียลมีเดีย “ดร.เอ้” ได้กลิ่นคล้าย “น้ำท่วมปี 54”

วันที่ 25 สิงหาคม 2567 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายสมบัติ ยะสินธุ์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. ดูแลภาคเหนือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “ดร.เอ้” รองหัวหน้าพรรค ปชป. ดูแลกรุงเทพมหานคร (กทม.)  นายนราพัฒน์ แก้วทอง รองหัวหน้าพรรค ปชป. ตามภารกิจ และ นางสาวเจนจิรา รัตนเพียร รองโฆษกพรรค ปชป.แถลงข่าวเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือ

ดร.เอ้ ได้กลิ่นคล้าย “น้ำท่วมปี 54”  ประชาธิปัตย์เปิดวอร์รูม “วิกฤตอุทกภัย”

นายสมบัติกล่าวว่า พรรค ปชป.ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนืออย่างใกล้ชิด และทำหน้าที่เป็นส่วนกลางคอยสนับสนุนเพื่อแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าช่วยเหลือให้ทันท่วงที โดยให้อาสาของพรรคในทุกพื้นที่ทำหน้าที่แจ้งข่าวและแจ้งประสานขอความช่วยเหลือมายังพรรค

นายสมบัติกล่าวว่า ขณะนี้พบว่ามี 4 จังหวัดกำลังประสบอุทกภัยอย่างหนัก โดยในวันอังคาร (27 ส.ค.67) นี้ ตนในฐานะที่เป็นรองหัวหน้าพรรค ปชป. ดูแลภาคเหนือ จะได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย นายนราพัฒน์ จะลงพื้นที่จังหวัดน่านและทำงานร่วมกับอาสาของพรรค

นายสุชัชวีร์กล่าวว่า สถานการณ์วันนี้มีกลิ่นคล้ายกับน้ำท่วม ปี 54 ที่เริ่มต้นในลักษณะเดียวกัน คือ มีฝนตกหนักทางตอนเหนือของประเทศ และมวลน้ำทั้งหมดไหลลงสู่อ่าวไทย แต่วันนี้ก่อนที่มวลน้ำจะเข้าสู่ภาคกลางและอาจเป็น กทม. พรรค ปชป.จึงได้เปิดระบบติดตามวิกฤตน้ำท่วม เพราะจะพบว่าปัญหาน้ำท่วมคนจะช่วยตอนน้ำขึ้น แต่ความจริงแล้วหลังจากน้ำลด ปัญหาจะหนักกว่าเยอะ เนื่องจากบ้านเรือนเสียหาย ประชาชนทำมาหากินลำบาก 

ดร.เอ้ ได้กลิ่นคล้าย “น้ำท่วมปี 54”  ประชาธิปัตย์เปิดวอร์รูม “วิกฤตอุทกภัย”

นายสุชัชวีร์กล่าวว่า เราจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลประชาชน โดยท่านสามารถเข้ามาในระบบของพรรค เดือดร้อนตรงไหน เราจะรวบรวมเพื่อส่งให้พรรค ปชป. ในพื้นที่เข้าไปดูแลและทำหน้าที่ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบ เราจะขอเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการดูแล เยียวยา ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ 

“หากฝนตกมากกว่าที่พยากรณ์ และมีพายุซ้ำเติม จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยารับเละ คนอยุธยาต้องไปรับเคราะห์แทนคนกรุงเทพฯ มันก็ไม่แฟร์ วันนี้ถ้าตัดไฟตั้งแต่ต้นลม จัดการน้ำให้ได้ตั้งแต่ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนกลางให้เรียบร้อย จะบรรเทาลงไปได้”นายสุชัชวีร์กล่าว

นายสุชัชวีร์กล่าวว่า วันนี้จะเห็นว่าการรับมือสถานการณ์ตั้งแต่ เชียงราย มาถึงน่านยังไม่ดีเท่าที่ควร เพราะชาวบ้านได้รับความเสียหายหนัก และยังไม่มีการประเมินข้อเท็จจริง เพราะการมาบอกว่าไม่เหมือนกัน การประเมินบอกว่า เอาอยู่ ไหนตัวเลขที่จริงแล้วเรื่องน้ำก็คือเรื่องคณิตศาสตร์ 

“ถ้าวันนี้เราพอบอกได้ว่ามีมวลน้ำอยู่แค่ไหน การจัดการของกระทรวงเกษตรฯ ทำอย่างไร เราพอจะประเมินได้ แต่วันนี้บอกจริงๆ ว่า เราเสียวนะ แล้วเราก็กลัวด้วย ยิ่งกว่านั้น ปี 54 สถานการณ์โลกร้อน น้ำทะเลหนุนยังไม่เท่าปีนี้ ผมห่วงเหลือเกิน ปีนี้เพิ่งเดือนสิงหาคม ยังไม่กันยายน แต่ที่น่ากลัวคือตุลาคม ซึ่งเป็นจุดสำคัญ ถ้าน้ำทะเลหนุนแม่น้ำเจ้าพระยา ผมว่าสถานการณ์นี้เราประมาทไม่ได้”นานสุชัชวีร์กล่าว 

นายนราพัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้มวลน้ำได้อยู่ทางตอนบนของภาคเหนือตอนบน และในอีกระยะจะเข้าสู่พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ทางพรรคได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อติดตามสถานการณ์ และจัดสรรถุงยังชีพเข้าช่วยเหลือในเบื้องต้น 

นายนราพัฒน์กล่าวว่า ขณะเดียวกันจะพบว่าขณะนี้ในพื้นที่อุทกภัยจะมีความสับสน ทำให้การติดต่อหน่วยงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ทำให้ทางพรรคได้รับการติดต่อผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนว่ายังไม่มีหน่วยงานเข้าดูแลช่วยเหลืออย่างทั่วถึง 

นายนราพัฒน์กล่าวว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ปชป.ได้มอบหมายให้ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งอยู่ในการดูแลของ นายสุชัชวีร์ เป็นตัวขับเคลื่อน พร้อมกับมีการจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อรับแจ้งความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งสามารถส่งข้อความมาได้ที่ https://form.democrat.or.th/flooding2567 เพื่อให้พรรค ปชป. ทั้ง สส. และอดีต สส. ของพรรค ตลอดจนเครือข่ายของพรรค ประธานสาขาของพรรคและอาสาของพรรค ได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิดต่อไป 

นางสาวเจนจิรากล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบทั่วทุกภาคกว่า 50,000 ครัวเรือน ที่ผ่านมาพรรคไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการพูดคุยในกรรมการบริหารพรรค และ สส. โดยหัวหน้าพรรค จึงกำชับให้รองหัวหน้าพรรค และ สส. ของพรรค ได้ส่งทีมงานลงพื้นที่ช่วยประสานความช่วยเหลือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และมูลนิธิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในเรื่องเครื่องอุปโภค บริโภค และถุงยังชีพ พร้อมประเมินสถานการณ์รายงานในทุกระยะ