25 สิงหาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย น.ส.ประภาพร ทองปากน้ำ สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล สส.สุโขทัย พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าส่วนราชการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดสุโขทัย โดยจุดแรกได้ลงพื้นที่ ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม บ้านหาดสะพานจันทร์ อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
ทั้งนี้ ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำว่า แนวโน้มน้ำจะมาเพิ่มเรื่อยๆ ส่งผลให้ไม่สามารถลดการระบายน้ำเส้นฝั่งซ้ายได้ เพราะต้องเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า อีก 12 ชั่วโมง น้ำจะถึงอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำ เป็นเรื่องของกรมชลประทาน ที่ต้องบริหารว่าจะปล่อยน้ำทางไหนให้เสียหายน้อยที่สุดซึ่งตนเชื่อมือกรมชลประทานแต่สิ่งที่จังหวัดสุโขทัย ต้องเตรียมการ คือ ทำหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อขอรับการสนับสนุนถุงยังชีพเพราะถ้าช้าจะไม่ทันความเสียหายที่เกิดขึ้น
จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ ก็ทราบว่า การระบายน้ำสายยม-น่าน ถ้าแล้วเสร็จ จะช่วยแบ่งเบาภาระได้จำนวนมาก ซึ่งกำลังก่อสร้างได้ 40% อีก 60% ยังติดเรื่องที่ดินบ้านเรือนของประชาชนจึงขอให้ฝ่ายปกครองช่วยกรมชลประทานพูดคุยกับประชาชนด้วย เพราะหลังน้ำลด ต้องสร้างให้เสร็จภายใน 1 ปี จะได้ช่วยระบายน้ำในปีหน้าได้
"ขณะนี้มีการใช้งบประมาณสร้างการระบายน้ำยมทั้ง 2 ฝั่ง ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทแล้วแต่ถ้าสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ในขณะนั้นจะใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท และการสร้างการระบายน้ำก็ไม่ต้องทำ แต่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ก็เป็นความยากลำบากเพราะเราอยู่ใต้น้ำแต่คนเหนือน้ำไม่ยอมให้พื้นที่
ดังนั้น พวกเราก็ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่ สส.ไม่ทำอะไรเลย โดยขณะนี้ ก็ลงพื้นที่ต่อเนื่อง แต่ถ้ามีเขื่อนขนาดใหญ่ น้ำก็จะไม่ท่วม ซึ่งเมื่อมีปัญหาการคัดค้าน ผมจึงผลักดันสร้างการระบายน้ำยม ทั้ง 2 ฝั่ง โดยถ้าขณะนี้ไม่ระบายออกก็จะเสียหายมากกว่านี้ซึ่งผมก็ขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันอย่างเต็มที่" รมว.สาธารณสุข กล่าว
จากนั้นนายสมศักดิ์ พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ต่อไปยังสะพานคลองน้ำไหล ที่ต้องมีการตัดทางรถไฟสายย่อย เพื่อทำให้การระบายน้ำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ก่อนเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วย ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ที่วัดคลองวังทอง อำเภอสวรรคโลก ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้นำเรือออกไปรับผู้ป่วยมาจากบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม
โดยนายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตนมาติดตามการระบายน้ำจากแม่น้ำยม ไหลไปแม่น้ำน่าน แต่พบปัญหาการก่อสร้างล้าช้า เนื่องจากคลองยาว 40 กิโลเมตร ซึ่งมีปัญหาการเวนคืนที่ดิน โดยถ้าทำได้เร็ว โอกาสการระบายน้ำให้ทันก็จะสามารถทำได้และจะช่วยลดความเสียหายในสายหลักแม่น้ำยมได้ด้วย รวมถึงตนมาติดตามจุดที่ต้องตัดทางรถไฟเพื่อระบายน้ำ พบว่า วันนี้ระดับน้ำลดลงเล็กน้อย เนื่องจากตลิ่งปลายน้ำพัง จึงทำให้ระดับน้ำลดลง แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือ น้ำออกทุ่งนาของประชาชนซึ่งก็ต้องเร่งเยียวยาต่อไป
พร้อมยอมรับว่า วันนี้ แม่น้ำยมสายหลักค่อนข้างตึงเครียด เพราะระดับที่ควบคุมอยู่ 62 รทก. แต่ที่ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม อยู่ที่ 64 รทก. สูงขึ้น 2 เมตร โดยก็จะเป็นปัญหา ถ้าแก้ไม่ได้ ก็จะท่วมตัวเมือง ซึ่งจากนี้ เป็นหน้าที่ของกรมชลประทาน ที่จะบริหารไม่ให้ตัวเมืองเสียหาย ตนก็ขอเป็นกำลังใจให้อย่างเต็มที่