ชัดเจน! มติพรรคเพื่อไทย ไม่เอา พปชร. ดึง“กลุ่มธรรมนัส-ปชป.”ร่วมรัฐบาล

27 ส.ค. 2567 | 12:18 น.
อัพเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2567 | 12:24 น.

ชัดเจนแล้ว มติกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ไม่เอา พปชร. ร่วมรัฐบาล แต่ส่งเทียบเชิญ “กลุ่มธรรมนัส-ปชป.” ร่วมแทน “สรวงศ์ เทียนทอง”ยอมรับต้องรวมเสียงในสภาให้ได้มากที่สุด เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาล

วันนี้( 27 ส.ค. 67) ที่อาคารชินวัตร 3 นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย (กก.บห.เพื่อไทย) ว่า ได้นำความไม่สบายใจของ สส.เข้าที่ประชุม และเห็นว่าเราไม่สามารถร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)ได้ 

ส่วนการทาบทามพรรคการเมืองไหน หรือ กลุ่มการเมืองไหนมาร่วมรัฐบาลในอนาคต ขอให้เป็นขั้นตอนต่อไป โดยจะเดินหน้าให้เร็วที่สุด โดยจะทำหนังสือเทียบเชิญอย่างเป็นทางการ ยืนยันว่า จะทำหนังสือเชิญทุกกลุ่ม ที่เห็นว่าสามารถร่วมงานกันได้ให้มากที่สุด

เมื่อถามถึงกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ จะได้ร่วมงานกับรัฐบาลหรือไม่ นาย สรวงศ์ กล่าวว่า น่าจะพูดคุย เพราะที่ผ่านมากลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ก็ให้ความร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด

เมื่อถามว่าจะเชิญพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) หรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ก็น่าจะพูดคุย และเป็นหน้าที่ของเราในการหาเสียงในสภาฯ ให้มากที่สุด เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาล โดยจะได้ส่งเทียบเชิญอย่างเป็นทางการให้เร็วที่สุด ตามที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ออกมาระบุ ยืนยันว่า เป็นการรวมเสียงในสภาฯ ส่วนข้อบังคับอื่นจะเป็นอย่างไร เราไม่ก้าวล่วง ขอให้การทำงานในสภาฯ ราบรื่นที่สุด

เมื่อถามว่าสำหรับกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส และพรรคประชาธิปัตย์ จะมีการจัดสรรโควตารัฐมนตรีให้หรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพูดคุยกัน และยืนยันว่าอำนาจแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเป็นของนายกรัฐมนตรี 

เมื่อถามว่ามีการเตรียมการรับมืออย่างไร กรณีหากมีผู้ไปร้องประเด็นไม่เชิญพรรคการเมืองทั้งพรรค นายสรวงศ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายที่จะรับมือ แต่ขอวิงวอนหากทำอะไรผิดค่อยไปร้องเรียน ไม่เช่นนั้นประเทศเดินหน้าไม่ได้

สำหรับนักร้องทั้งหลาย ขอโอกาสให้นายกฯรัฐมนตรีได้ทำงาน ให้รัฐบาลได้ทำงานเพราะประเทศต้องเดินต่อ เพราะเวลาผ่านไปแต่ละวันกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน

ก่อนหน้านั้น นายสรวงศ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม สสพรรคเพื่อไทย ว่า ที่ประชุม สส. มีการพูดถึงข้อกังวลของ สส.หลายคน ที่มีความไม่สบายใจ ถึงพฤติกรรมของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวหน้าพรรคร่วม ที่ตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้ให้ความสำคัญ และไม่มาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ประกอบกับหลายสิ่งที่สื่อมวลชนทราบดีว่า มีเรื่องการยื่นถอดถอนนายเศรษฐา ก็ทราบกันดีว่าใครอยู่เบื้องหลัง 

"เป็นสิ่งที่สส.พรรคเพื่อไทย สะท้อนออกมาในที่ประชุม ส่วนการดำเนินการในกิจกรรมนิติบัญญัติ โดยที่ประชุมพรรคมีมติมอบหมายให้กรรมการบริหารพรรค รวบรวมเสียงสมาชิกในสภาให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างเสถียรภาพรัฐบาล"

เมื่อถามว่าการร่วมรัฐบาลจะต้องมาทั้งพรรค ไม่ใช่เลือกบุคคลใดบุคคลหนึ่งใช่หรือไม่ นายสรวงกล่าวว่า ก็มีข้อบังคับของพรรคอยู่แล้ว ซึ่งเราจะไม่ก้าวร่วง แต่ในนามของเลขาธิการพรรค จะรวบรวมเสียงในสภาให้ได้มากที่สุด

เมื่อถามย้ำว่า มติที่ประชุมสส.พรรค ไม่เอาพรรคพลังประชารัฐร่วมรัฐบาล และขอมติจาก กก.บห.ใช่หรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า ใช่คำว่าไม่สบายใจดีกว่า ซึ่งจะต้องนำเรื่องเหล่านี้มาถกกันในที่ประชุม กก.บห.อย่างแน่นอน

เมื่อถามอีกว่าการเดินหน้ารวบรวมเสียง คือการเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์มาเข้าร่วมรัฐบาลใช่หรือไม่นายสรวงศ์กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคประชาธิปัตย์เพียงอย่างเดียว แต่ในฐานะเป็นเลขาธิการพรรค ต้องหาเสียงในสภาให้มากที่สุด เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาล

เมื่อถามต่อว่ามีพรรคใดบ้างนอกจากพรรคประชาธิปัตย์ที่จะเทียบเชิญเข้าร่วมรัฐบาลนายสรวงศ์ กล่าวว่า ก็ยังมีพรรคเล็กๆ อยู่ ส่วนพรรคที่มี 1 หรือ 2 เสียงก็ยังทำให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

เมื่อถามต่อว่าสส.พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียงที่โหวตเลือก น.ส แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มีโอกาสที่จะเข้าร่วมเป็นรัฐบาลหรือไม่ นายสรวงศ์ ยอมรับว่า เป็นไปได้ในเมื่อมีความเห็นตรงกัน ที่จะให้นายกฯของพรรคเพื่อไทย เป็นผู้นำของรัฐบาล ก็อาจจะทำงานร่วมกันได้ พร้อมกันยืนยันว่าจะเดินรวบรวมเสียงในสภาทันที 

เมื่อถามถึง กลุ่ม สส. ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซัพพอตพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอดจะพิจารณาอย่างไร นายสรวงศ์ กล่าวว่า สส.แต่ละคนมีเอกสิทธิ และมีเอกภาพในการทำงานที่จะมีความเห็นทางการเมืองในแต่ละคน เราคงจะต้องมีการเชื้อเชิญกัน แต่คนใดสะดวกหรือไม่สะดวกก็เป็นเรื่องของบุคคล พร้อมกับระบุว่าจะติดต่อทาบทามไป หากสะดวกใจจะร่วมงานกันก็มา หากไม่สะดวกใจก็แยกกันเดิน 

เมื่อถามต่อว่าหากกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส สะดวกใจที่จะมาร่วมทำงาน จะมีตำแหน่งหรือโควตาในครม.หรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี 

เมื่อถามถึงเรื่องของข้อกฎหมายว่าสามารถมอบตำแหน่งให้กับคนนอกหรือพรรคการเมืองอื่นที่ไม่เข้าร่วมรัฐบาลนั้น สามารถทำได้หรือไม่ นายสรวงศ์ ยืนยันว่า ไม่มีข้อห้ามอะไรทั้งสิ้น เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียวที่จะเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีเพราะฉะนั้นเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ไม่มีข้อกำหนด มีแต่เป็นข้อบุคคล ในเรื่องของโควตา แต่ก่อนเป็นพรรคการเมือง ก็เป็นโควตาจองแต่ละพรรค แต่การแต่งตั้ง ครม.ชุดนี้ถือเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี

เมื่อถามว่าการเทียบเชิญพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นทางการหรือการภายใน นายสรวงศ์ กล่าวว่า ต้องเป็นทางการ แต่อาจจะมีการประสานกันภายในก่อน แต่โดยสรุปแล้วเพื่อให้เกรียติกับผู้ที่เทียบเชิญอย่างเป็นทางการ 

ส่วนหากมีการเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีปัญหาการขัดแย้งภายในจะเป็นปัญหาเช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ต้องดูเป็นรายบุคคลแต่พยายามให้ประนีประนอมให้มากที่สุดและราบรื่นที่สุด

เมื่อถามว่าถ้ามาเป็นกลุ่มแบบนี้ จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดรัฐบาลงูเห่าหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ไม่ใช่งูเห่า เรามองว่าใครที่พร้อม และมีความคิดเห็นตรงกัน มีแนวคิดทางการเมืองตรงกัน ก็มาทำงานด้วยกัน ให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการบริหารจัดการประเทศไปในทางเดียวกันจะดีที่สุด

เมื่อถามว่าการบริหารจัดการในอนาคตจะยากขึ้นหรือไม่ เพราะในแต่ละพรรคการเมืองก็ไม่เป็นเอกภาพ นายสรวงศ์ กล่าวว่า เรื่องนั้นก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งเราไม่ไปก้าวล่วง แต่ละพรรคการเมืองมีข้อบังคับแตกต่างกัน มีจริยธรรมที่แตกต่างกัน อย่างพรรคเราก็มี คณะกรรมการพิจารณาจริยธรรม สส. แต่ละคนอยู่แล้ว คนไหนทำผิดก็เอาเข้าที่ประชุม มีมติขับออก แต่ส่วนตัวก็ไม่ขอก้าวล่วงพรรคการเมืองอื่น และตนเองในฐานะกรรมการบริหารพรรคที่เป็นเลขาธิการพรรค ก็จะทำทุกอย่างให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากที่สุด 

เมื่อถามว่ามีรายชื่อของนายอัครา พรหมเผ่า เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นโควต้าพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีการพูดคุยกัน และการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี 

เมื่อถามว่า ครม.ของพรรคเพื่อไทยสะเด็ดน้ำแล้วหรือยัง นายสรวงศ์ กล่าวว่า "เท่าที่คุยกับนายกรัฐมนตรี ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร" 

เมื่อถามว่ารัฐบาลเดิมมี 314 เสียง จะเดินหน้าเทียบเชิญได้อีกกี่เสียง นายสรวงศ์ กล่าวว่า หากนับจากที่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี 319 เสียง จริงๆ ถ้ายังอยู่ครบก็ดี แต่เสียงเพิ่มเข้ามาก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ แต่ยืนยันจะไม่ให้ต่ำกว่า 300 บาท น่าจะมากกว่า หรือได้เท่าเดิมก็มีความสุขแล้ว