“รัฐบาลแพทองธาร” 325 เสียง เสถียรภาพแน่นปึ๊ก

31 ส.ค. 2567 | 00:00 น.

“รัฐบาลแพทองธาร” 325 เสียง เสถียรภาพแน่นปึ๊ก : รายงานพิเศษ โดย...ทีมข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4023 +++

KEY

POINTS

  • “รัฐบาลแพทองธาร”ลงตัว เป็นรัฐบาล 15 พรรคการเมือง มีสส.หนุน 325 เสียง เสถียรภาพแน่นปึ๊ก ฝ่ายค้านมี 168 เสียง
  • โผ ครม. 35 คนก็ลงตัวหมดแล้ว “ภูมิธรรม”รองนายกฯ ควบกลาโหม “พิชัย ชุณหวชิร”ดูแลคลังต่อ “พิชัย นริพทะพันธุ์”คุมพาณิชย์ “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์”รมว.เกษตรฯ 
  • “รัฐบาลแพทองธาร”มีเวลาเหลือบริหารประเทศ ราว 3 ปี จะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ และ รัฐบาลจะอยู่จนครบวาระหรือไม่ มารอดูกัน 

“รัฐบาลเพื่อไทย” ภายใต้การนำของ อิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ฟอร์มทีม “พรรคร่วมรัฐบาล” ลงตัวจบแล้ว

ภายหลังกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย มีมติให้เชิญ สส.พรรคพลังประชารัฐ ในซีกของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2567

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ก็มีมติเข้าร่วมรัฐบาลทันที เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา 

รัฐบาล 325 เสียงแน่นปึ๊ก

ทำให้เสถียรภาพ “รัฐบาลแพทองธาร” แน่นปึ๊ก ด้วยเสียงข้างมากในสภาฯ 325 เสียง จากสส.ในสภาฯ ทั้งหมดที่มีอยู่ขณะนี้ 493 เสียง 

รัฐบาลแพทองธาร 15 พรรค 325 เสียง ประกอบด้วย 1.พรรคเพื่อไทย 141 เสียง 2.พรรคภูมิใจไทย 70 เสียง 3.พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง 4.พรรคพลังประชารัฐ (สาย ร.อ.ธรรมนัส) 22 เสียง 5.พรรคประชาธิปัตย์ 21 เสียง (25-4) เสียง 6.พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง 7.พรรคประชาชาติ 9 เสียง 

8.พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง 9. พรรคไทรวมพลัง 2 เสียง 10.พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง 11.พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง 12.พรรคใหม่ 1 เสียง 13.พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง 14.พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง และยังมี 15.สส.จากพรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง 

จำนวนเสียง สส.ในมือรัฐบาลที่มีถึง 325 เสียง จึงเป็นเครื่องการันตีได้ว่า ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องเสียงสนับสนุนในสภาฯ ที่รัฐบาลจะผลักดันกฎหมายสำคัญ หรือ แม้แต่การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน

 “นายกฯแพทองธาร” จึงสบายใจได้ว่าในสภาฯ จะไม่มีใครสามารถทำอะไรได้

ฝ่ายค้าน 168 เสียง

หันไปดูเสียงพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขณะนี้มีเสียงประกอบด้วย 1.พรรคก้าวไกล 143 เสียง 2.พรรคเป็นธรรม 1 เสียง 3.พรรคไทยก้าวหน้า 1 เสียง 4.พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง รวม 146 เสียง 

นอกจากนั้น หากรวม สส.พรรคพลังประชารัฐ ในกลุ่มของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ 18 เสียง และ พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาลเพื่อไทย อีก 4 เสียง (ชวน หลีกภัย – บัญญัติ บรรทัดฐาน- จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์-สรรเพชญ บุญญามณี” ก็จะทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีทั้งหมด 168 เสียง  

                                    “รัฐบาลแพทองธาร” 325 เสียง เสถียรภาพแน่นปึ๊ก

 

โผ“ครม.แพทองธาร”ลงตัว

ส่วนความคืบหน้าในการ “ฟอร์ม ครม.” นั้น ขณะนี้ในตำแหน่งหลักๆ ค่อนข้างลงตัว ทำให้เห็นโฉมหน้า “ครม.แพทองธาร” แล้วว่าเป็นอย่างไร

โดยนอกจากรัฐบาล จะประกอบด้วย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ในส่วนโควต้าของพรรคเพื่อไทย ยังประกอบด้วย

นายภูมิธรรม เวชยชัย จากรมว.พาณิชย์ ถูกสลับไปนั่งเป็นรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ดูแลด้านความมั่นคงทั้งหมด, นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรมว.คลัง , นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และรมว.คมนาคม, นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม, นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม, นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เป็น รมว.ต่างประเทศ เหมือนเดิม

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเศรษฐกิจเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) , นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เป็น รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข, น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ, น.ส.จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และ  น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย เป็น รมช.มหาดไทย

“นฤมล”นั่งรมว.เกษตรฯ

ส่วนโควต้ารัฐมนตรีในกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐนั้น ได้ 3 เก้าอี้ ประกอบด้วย นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรคกล้าธรรม เป็น รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายอัครา พรหมเผ่า น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์  และ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ 

ปชป.“เฉลิมชัย-เดชอิศม์”นั่งรมต.

ในส่วนของ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้โควต้ารัฐมนตรี 2 เก้าอี้ คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคประชาธิปตย์ เป็น รมว.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และเลขาธิการพรรค เป็น รมช.สาธารณสุข 

                        “รัฐบาลแพทองธาร” 325 เสียง เสถียรภาพแน่นปึ๊ก

“ภูมิใจไทย”รมต. 8 เก้าอี้คงเดิม

ด้านพรรคภูมิใจไทย รัฐมนตรีทั้งหมดยังคงเดิม ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย, นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน,  พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ, นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ, นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษาฯ  และ นายภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์ 

“ณัฐพล”ติดโผรมช.กลาโหม

ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้โควต้ารัฐมนตรี 4 เก้าอี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ยังเป็น รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ตามเดิม ขณะที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค จะเข้ามาเป็นรมว.อุตสาหกรรม แทน พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ขณะที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น ยังนั่ง รมช.พาณิชย์ เหมือนเดิม

ที่มีการเปลี่ยนแปลงอีกคือ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ติดโผได้เข้ามานั่งเป็น รมช.กลาโหม แทนโควต้า พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ที่หลุดตำแหน่งไป

สำหรับ พล.อ.ณัฐพล เป็น เลขานุการรมว.กลาโหม และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคง(สมช.) ได้เข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรี ถือเป็นโควตาบุคคลภายนอกของพรรครวมไทยสร้างชาติ  

ทั้งนี้ พล.อ.ณัฐพล ถือได้ว่ามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่สมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกรัฐมนตรี ทำงานใกล้ชิดและถือเป็นน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ 

อย่างไรก็ตาม ในยุครัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีชื่อ พล.อ.ณัฐพล ติดโผนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีมาโดยตลอด 

สำหรับตำแหน่ง รมว.กลาโหม มีการวางตัว นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ มานั่งเป็นรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เพื่อดูแลด้านความมั่นคงทั้งหมด

ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ 1 เก้าอี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา ยังคงนั่งรมว.การพัฒนาสังคมฯ เหมือนเดิม เช่นเดียวกับ พรรคประชาชาติ ที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นั่ง รมว.ยุติธรรม ที่เดิม

ไทม์ไลน์รัฐบาลใหม่

ทั้งนี้คาดว่า นายกรัฐมนตรีจะนำรายชื่อรัฐมนตรีใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ในช่วงต้นเดือน ก.ย.นี้ เมื่อมีการโปรดเกล้าฯ ลงแล้วมา นายกรัฐมนตรี จะนำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่

จากนั้น วันที่ 5 ก.ย. จะประชุม ครม.นัดพิเศษ เพื่อเสนอร่างนโยบายต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ พร้อมกับกำหนดวันแห่งนโยบายต่อรัฐสภา โดยวันที่ 6 ก.ย.จะส่งเล่มคำแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งตามธรรมเนียมปฏิบัติจะต้องส่งก่อนวันแถลงนโยบายล่วงหน้า 3 วันทำการ

และคาดว่า “ครม.แพทองธาร” จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในวันที่ 11 ก.ย. ซึ่ง ครม.จะต้องแถลงนโยบายภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ดังนั้น วันอังคารที่ 17 ก.ย. จะเป็นการประชุม ครม. นัดแรก ที่มี แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ

“รัฐบาลแพทองธาร”มีเวลาเหลือบริหารประเทศ ราว 3 ปี มารอดูกันว่าจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้หรือไม่ และ รัฐบาลจะอยู่จนครบวาระหรือไม่...