ปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์เกิดขึ้นในวงการการเมืองไทย เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของ "แพทองธาร ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศ
ได้แต่งตั้งรัฐมนตรีหญิงถึง 8 ท่าน นับเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการส่งเสริมบทบาทสตรีในแวดวงการเมืองไทย
แพทองธาร ชินวัตร ชื่อเล่น "อิ๊งค์" หรือ อุ๊งอิ๊งค์(พ่อเรียก)เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2529 เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 31 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศ และเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
ได้รับตำแหน่งในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เมื่ออายุ 37 ปี 361 วัน ทำลายสถิติของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่ออายุ 40 ปี
แพทองธารเกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย และคุณหญิง พจมาน ณ ป้อมเพชร สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยเซอร์รีย์ ประเทศอังกฤษ สาขาการบริหารงานโรงแรม
แพทองธารเริ่มเข้าสู่วงการการเมืองในปี พ.ศ. 2564 โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทย ต่อมาเธอขึ้นเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยในปี พ.ศ. 2565 พรรคเสนอชื่อเธอเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2566
หลังจากการเลือกตั้ง ได้เป็นรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และถูกเสนอชื่อจากพรรคร่วมรัฐบาลให้เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 31 หลังจากที่เศรษฐา ทวีสิน ถูกศาลรัฐธรรมนูญถอดถอน เธอจึงได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ
ศุภมาส อิศรภักดี หรือ "ผึ้ง" เกิดวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2516 จบปริญญาโทวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยวอร์ริก สหราชอาณาจักร (พ.ศ. 2543) และปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาอุตสาหการ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2538)
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
นอกจากนี้ เธอยังเป็นเหรัญญิกพรรคภูมิใจไทย และเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งในระบบเขตและบัญชีรายชื่อเริ่มต้นเส้นทางการเมืองกับพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2544 และ 2548
ต่อมาเข้าร่วมพรรคภูมิใจไทยและสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อในปี พ.ศ. 2557 และ 2562 ได้รับตำแหน่งโฆษกพรรคภูมิใจไทยในปี พ.ศ. 2555 และต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในปี พ.ศ. 2566
ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ชื่อเล่น "แหม่ม" เกิดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคกล้าธรรม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
ก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา
การศึกษา : นฤมลสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์จากมหาวิทยาลัยรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบปริญญาโทบริหารธุรกิจ และปริญญาเอกด้านการเงินจากวิทยาลัยวอร์ตัน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา
ก่อนเข้าสู่วงการเมือง นฤมลเคยเป็นอาจารย์และรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะบริหารธุรกิจ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) โดยเชี่ยวชาญด้านการเงินและการบริหารความเสี่ยง และยังเคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์) ก่อนเข้าสู่การเมืองอย่างเต็มตัวในพรรคพลังประชารัฐ
งานการเมือง นฤมลเริ่มต้นโดยเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐ และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จากนั้นจึงได้รับแต่งตั้งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และต่อมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน
ในปี พ.ศ. 2566 นฤมลได้ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐและได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านการค้า
สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ชื่อเล่น ปุ๋ง เกิดวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2525 ที่อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา เป็นบุตรสาวของวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
สุดาวรรณจบการศึกษาด้านเทคโนโลยีธรณีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ก่อนเข้าสู่วงการการเมือง เธอเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทแป้งมันเอี่ยมเฮงอุตสาหกรรม จำกัด
สุดาวรรณเข้าสู่วงการการเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 จากนั้นเธอได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 ซึ่งทำให้เธอเป็นรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในคณะรัฐมนตรีของเศรษฐา ทวีสิน
และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ได้สลับตำแหน่งกับเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช และกลายเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในรัฐบาลของนายเศรษฐา ต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
จิราพร สินธุไพร ชื่อเล่น "น้ำ" เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2530 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสํานักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของแพทองธาร ชินวัตร ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลเศรษฐา
เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมถึงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 โดยเคยดำรงตำแหน่งรองโฆษกพรรคเพื่อไทย และมีบทบาทสำคัญในคณะกรรมการต่าง ๆ ของสภาผู้แทนราษฎร
ประวัติการศึกษา จบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ปริญญาตรีศิลปศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญญาโทรัฐศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และปริญญาโท Master of Science (International Business) จาก University of Reading ประเทศอังกฤษ
ผลงานและตำแหน่งทางการเมือง ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ดในปี พ.ศ. 2562 ด้วยคะแนนสูงสุดในจังหวัด ดำรงตำแหน่งรองโฆษกพรรคเพื่อไทยในปี พ.ศ. 2562 มีบทบาทสำคัญในคณะกรรมาธิการต่าง ๆ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารจัดการหนี้ กยศ.
และในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2566 ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดในประเทศถึง 61,288 คะแนน และจากนั้นได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
ความสามารถพิเศษ จิราพรมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุน และการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว โดยยังมีบทบาทในกิจกรรมทางสังคมระดับนานาชาติ
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ชื่อเล่น "อิ่ม" เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของนายวิบูล สำเร็จวาณิชย์ และนางทองดี สำเร็จวาณิชย์ มีพี่น้อง 8 คน
การศึกษา ธีรรัตน์สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยวูลลองกอง (University of Wollongong) สาขา Master of International Business และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเซนทรัลควีนส์แลนด์ (Central Queensland University) สาขา Professional Doctorate สาขา Education (Transdisciplinary Studies) ประเทศออสเตรเลีย
ประสบการณ์การทำงาน ก่อนเข้าสู่วงการการเมือง ธีรรัตน์ทำงานในแผนกพัฒนาบุคลากร ฝ่ายยุทธศาสตร์การจัดการเรียนรู้แก่ผู้บริหารระดับสูง ธนาคารกสิกรไทย
ธีรรัตน์เริ่มต้นการเมืองโดยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทยในเขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นฐานเสียงของครอบครัว และชนะเลือกตั้งได้สำเร็จ
และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานครอีกสองครั้งในปี พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2566 ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหลังสุด เธอได้รับคะแนนเสียง 34,749 คะแนน และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทยเพียงคนเดียวในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ที่มาจากพรรคเพื่อไทย
ตำแหน่งปัจจุบัน
มนพร เจริญศรี ชื่อเล่น "เดือน" เกิดวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2508 ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เติบโตมาจากการเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่จังหวัดนครพนม
ประสบการณ์ทางการเมือง เริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม และได้เป็นรองประธานสภา
ต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ตั้งแต่ปี 2547-2551
การเคลื่อนไหวทางการเมือง มนพรเป็นสมาชิกกลุ่มคนเสื้อแดง จังหวัดนครพนม หลังการรัฐประหารในปี 2549 เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับผู้ที่เสียชีวิตจากการชุมนุม
การเมืองระดับชาติ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนมในปี 2554 และได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย ชนะการเลือกตั้งในปี 2562 และ 2566 ด้วยคะแนนเสียงที่เหนือคู่แข่ง มีบทบาทสำคัญในการประสานงานภายในพรรคการเมืองและเป็นเลขานุการภาคอีสานของพรรคเพื่อไทย
ตำแหน่งปัจจุบัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้มาตั้งแต่ 1 กันยายน 2566 ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ต่อเนื่องมาจากจนถึงรัฐบาลแพทองธาร
การศึกษา จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนนครพนมวิทยาคม ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) อนุปริญญา วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา ปริญญาโท ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต (มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ปริญญาเอก ศิลปศาสตร์ดุษฏีบัญฑิต (สื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก)
ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ ชื่อเล่น "ดีดา" เกิดเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2527 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยหญิงมุสลิมคนแรกของไทย
ซาบีดา สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยในลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร
ชีวิตส่วนตัว สมรสกับชาเดฟ-อนันต์ ปาทาน เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2565 บิดาคือ "ชาดา ไทยเศรษฐ์" และมารดาคือเตือนจิตรา แสงไกร
ผลงานและประสบการณ์ เคยเป็นหุ้นส่วนร่วมในห้างหุ้นส่วนจำกัด ชฎาอุทัยธานีทัวร์ ซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ถือหุ้นในบริษัทหลายแห่ง รวมถึง บริษัท ท่าทรายหนองมะโมง ชาชีพ จำกัด และ บริษัท พาวเวอร์.ธันเดอร์ จำกัด
ส่วนงานในมูลนิธิ ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการและเลขานุการในมูลนิธิไทยเศรษฐ์ และมูลนิธิอุทัยธานีเพื่อการพัฒนา
การเมือง
ในทางการเมือง เคยทำงานในคณะทำงานประจำรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในช่วงที่บิดาดำรงตำแหน่ง ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยแทนบิดาเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 และเป็นสมาชิกสกุลไทยเศรษฐ์คนที่สามที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
8 รมต.สุภาพสตรีนี้ ไม่เพียงแต่มีความหลากหลายทางอายุและภูมิหลัง แต่ยังแสดงให้เห็นถึงพลังและศักยภาพของสตรีไทยในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง เป็นการเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเมืองไทย ทลายกำแพงเพศสภาพ ที่ไม่ใช่อุปสรรคในการก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองอีกต่อไป