“นพรุจ”ยื่น กกต.ยุบ 4 พรรครัฐบาล ปมพบ“ทักษิณ”ก่อนตั้งรัฐบาลแพทองธาร

09 ก.ย. 2567 | 07:04 น.
อัพเดตล่าสุด :09 ก.ย. 2567 | 07:17 น.

กกต.หัวบันไดไม่แห้ง “นพรุจ วรชิตวุฒิกุล” ยื่นยุบ 4 พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล “เพื่อไทย-ภูมิใจไทย-รทสช.-ชาติไทยพัฒนา” ปมแกนนำเข้าพบ “ทักษิณ” ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ก่อนตั้งรัฐบาล ส่อครอบงำ

วันนี้( 9 ก.ย. 67) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบชาว 2006 ได้เข้ายื่นคำร้องพร้อมหลักฐานต่อ กกต. ขอให้พิจารณายุบพรรคการเมือง 4 พรรค ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคชาติไทยพัฒนา 

จากกรณี นายทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคของ 4 พรรค รวมถึงบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทย เข้ามาพูดคุยที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 อาจเข้าข่ายกระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 21 28 และ 29 โดยขอให้ กกต.สั่งยุบพรรคการเมือง ตามมาตรา 92

นายนพรุจ กล่าวว่า การที่นายทักษิณ เรียกแกนนำรักษาการรัฐบาลในช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่ง เข้ามาพูดคุยในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ นายชัยเกษม นิติศิริ เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 เท่าที่ประเมินดูนั้น นายทักษิณ คงกระทำการโดยเข้าใจว่าเป็นบิดาของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ระหว่างทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศจีน วันที่12-15 ส.ค. จึงเรียกบรรดารัฐมนตรี หรือรักษาการรัฐมนตรีในขณะนั้น

นายนพรุจ กล่าวว่า นายทักษิณ เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นบิดาของ น.ส.แพทองธาร ดังนั้น การกระทำการใด ๆ ของนายทักษิณ ประหนึ่งเสมือนเป็นการกระทำของพ่อกับลูก แต่การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 ที่ระบุว่า พรรคจะต้องไม่ยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้ามาควบคุม ครอบงำสั่งการ ทำให้พรรคไม่สามารถดำเนินการได้โดยอิสระ 

“นายทักษิณ ถือว่าเป็นบุคคลภายนอกไม่สามารถที่จะเข้าไปแทรกแซงหรือกระทำการใด ๆ แต่ไม่ทราบว่าท่านไม่เข้าใจประเด็นนี้หรือไม่ จึงได้กระทำการดังกล่าว สงสัยว่าท่านกระทำในฐานะเป็นเจ้าของพรรค หรือ เป็นผู้มีอิทธิพลเหนือพรรค จึงมายื่นให้กกต. พิจารณาตรวจสอบในเรื่องนี้”

นายนพรุจ กล่าวว่า ระยะเวลาดำเนินการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลก็ดี จะต้องมาพบ นายทักษิณ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าทุกครั้ง เมื่อครั้งที่ นายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีการเข้าพบปะมาหาในเหตุการณ์ต่างๆ ต่อเนื่องมา บ่งบอกชัดว่าการกระทำของ นายทักษิณ ส่อไปในทางครอบงำ สั่งการ ควบคุม ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็เข้าใจว่าเขาเป็นเจ้าของพรรค ซึ่งมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง 

รวมทั้งการเป็นบิดาของนางสาวแพทองธาร ย่อมมีอิทธิพลเหนือนางสาวแพทองธาร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมถึงเป็นอดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทยมาก่อน โดยทุกครั้งที่มีการจัดตั้งรัฐบาล หรือมีการออกนโยบายต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยดำเนินการอยู่นายทักษิณ เป็นผู้แสดงความคิดเห็นก่อนพรรคเสมอ เสมือนเป็นมติก่อนที่พรรคจะลงมติ