เปิดศึกนิติสงครามจ้องโค่น“รัฐบาลอิ๊งค์-เพื่อไทย”

06 ก.ย. 2567 | 23:00 น.

หลังประกาศแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ "เรืองไกร" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ บุก กกต.ยื่นให้สอบ “สอย” นายกฯอิ๊งค์ ทันที่ อ้างปล่อยให้ "ทักษิณ" ครอบครอง และผิดสังเกตลาออก 14 บริษัทในวันเดียว ขณะที่ “บุคคลนิรนาม” ยื่นให้ยุบพรรคเพื่อไทย

KEY

POINTS

  • หลังประกาศแต่งตั้ง ครม.ชุดใหม่ "เรืองไกร" สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ บุก กกต.ยื่นให้สอบ “สอย” นายกฯอิ๊งค์ ทันที่ ในเรื่องคุณสมบัติ
  • พร้อมงัด “จริยธรรม” ปล่อยให้ "ทักษิณ" ครอบครอง และผิดสังเกต “นายกฯอิงค์” ลาออกจาก 14 บริษัทใน 4 จังหวัดวันเดียวได้อย่างไร
  •  ขณะที่ “บุคคลนิรนาม” ก็ได้ยื่น กกต.ให้ชงยุบพรรคเพื่อไทย โดยอ้าง “ทักษิณ” ชี้นำพรรค ...นิติสงครามได้เริ่มขึ้นแล้ว มารอลุ้นกันว่า นายกฯอิ๊งค์-พรรคเพื่อไทย จะรอดหรือไม่
     

ภายหลังมีประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำของ อิ๊งค์-แพทองธาร ชินวัตร เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2567 

ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้เข้ายื่นคำร้องให้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบคุณสมบัติ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใน 2 ประเด็น คือ  

ข้องใจ“อิ๊งค์”ปมลาออกบริษัท

1. กรณีเป็นกรรมการบริษัท 20 แห่ง ของ น.ส.แพทองธาร ที่ยื่นออกลาจากกรรมการบริษัท ในวันที่ 15 ส.ค. 2567 ซึ่งมีผลทันที โดยตามกฎหมายแพ่ง มาตรา 1153/1 แก้ไขเมื่อปี 2549 ซึ่ง นายทักษิณ ชินวัตร แก้ไขเรื่องการลาออกจากกรรมการบริษัทว่า การจะลาออกให้ยื่นหนังสือไปที่บริษัท หรือ จะยื่นต่อนายทะเบียนก็ได้ 

ส่วนการไปจดทะเบียนจะอยู่ในอีกมาตรา คือ ถ้ามีกรรมการลาออกแล้ว กรรมการที่เหลือ มีเวลาไปจดแจ้งอีก 14 วัน ดังนั้น หนังสือเอกสารที่ตนคัดมา 20 บริษัทรวมกว่า 100 หน้า มายื่นต่อกกต. จึงมีข้อสังเกตว่า  

น.ส.แพทองธาร ยื่นลาออกที่บริษัท ที่ตั้งอยู่ใน 4 จังหวัด 14 บริษัทแรกที่ กทม. 2 แห่งที่ปทุมธานี มีสนามกอล์ฟอัลไพน์ ด้วย 1 บริษัท และ อยู่ที่นครราชสีมา 3 แห่งอยู่ลำพูน โดยยื่นด้วยตัวเองในวันที่ 15 ส.ค. ภายในวันเดียวได้อย่างไร 

ต่อมาวันที่ 16 ส.ค. สภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่า เดินทางไปยื่นใน 4 จังหวัดในเวลาเดียวกันได้อย่างไร 

“จึงถามไปยัง น.ส.แพทองธาร ว่า โชว์เอกสารการลาออกได้หรือไม่ ท่านบอกว่า ไม่ใช่เรื่อง ซึ่ง กกต. ต้องตรวจสอบให้ชัด” นายเรืองไกร ระบุ 

งัดปม“จริยธรรม”สอยอิงค์

2. เรื่องจริยธรรม น.ส.แพทองธาร ยินยอม ให้ นายทักษิณ ชินวัตร บิดา มาครอบครองตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ นี่ไม่ใช่เรื่องพ่อ-ลูก แต่เป็นเรื่องของนายกฯ ของแผ่นดิน ตนยอมไม่ได้ 

เพราะอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ความแพ่ง ของ น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ โดยตนได้คัดคำร้องในเรื่องจริยธรรม ข้อ 8 เรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้คนอื่นยินยอมรับหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องครอบงำที่จะไปร้องยุบพรรค เพราะยังอ่านคำวินิจฉัยเต็มจากศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่อันนี้มีเหตุควรแก่การยื่นตรวจสอบแล้ว  

นายเรืองไกร ระบุว่า นายทักษิณ ให้สัมภาษณ์บอกว่าเป็นการ “ครอบครอง” ไม่ใช่ “ครอบงำ”  และท้าทายว่า ใครอยากร้องก็ร้องให้ดัง ซึ่งการกระทำนี้ถือว่า น.ส.แพทองธาร ยินยอมให้พ่อเข้ามาครอบครองจริง ซึ่งนายกฯ เป็นผู้บริหารราชการแผ่นดินของคนไทยทุกคน ไม่สามารถทำได้ถือว่า "ผิดจริยธรรมร้ายแรง" จึงขอย้ำตามข้อกฎหมายได้ชัดเจน เพื่อให้คนที่ยังไม่เข้าใจและกล่าวหาว่า ตนเองกล่าวหาคลาดเคลื่อนได้เข้าใจ

นายเรืองไกร ย้ำว่า คำว่า "ครอบงำ" อยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 แต่ไม่มีคำว่า "ครอบครอง" ในกฎหมายดังกล่าว ตนจึงต้องยกคำพิพากษาศาลฎีกาและพจนานุกรมให้ กกต. ดูว่า คำว่าครอบครองหนักกว่าหรือไม่ 

และคำว่า “ครอบครอง” ไม่สามารถร้องในมาตรา 28 เพราะไม่มีบัญญัติคำนี้ จึงไม่สามารถไปขยายความกฎหมายเองได้ แต่จะต้องไปปรับกับมาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งมีกำหนดข้อห้ามไว้ 22 ข้อ 

“รัฐมนตรีใหม่ได้มีการตรวจสอบแน่ ยืนยันว่าไม่ได้ร้องแค่นายกฯ เพียงคนเดียว แต่ผมจะร้องหมดทุกฝ่าย และไม่ได้มีนัยยะทางการเมือง ถ้ามีเหตุผมก็ร้อง วันนี้ยังไม่ร้องยุบพรรค เพราะยังไม่เห็นคำวินิจฉัย” 

ร้องกกต.ยุบพรรคเพื่อไทย

ก่อนหน้านั้น  เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2567 ได้มีผู้ร้อง ซึ่งสงวนชื่อและนามสกุล ยื่นหนังสือร้องเรียนไปยัง กกต. เพื่อขอให้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำสั่ง “ยุบพรรคเพื่อไทย” เช่นเดียวกับที่ กกต.ยื่นยุบพรรคก้าวไกล 

โดยผู้ร้องนิรนามผู้นี้ อ้างว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จากเรื่องพิจารณาที่ 17/2567 กรณี นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรมต.ประจำสำนักนายกณ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไป เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ ในเอกสารของผู้ร้องอ้างว่า จากหลักฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ อันควรเชื่อได้ว่า “พรรคเพื่อไทย” ยินยอมให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกชี้นำกิจกรรมของพรรค ประกอบกับพฤติการณ์ของแกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งแสดงออกในหลายเหตุการณ์ถึงการให้การยกย่อง ให้ความสำคัญ ให้ความใกล้ชิด ให้การต้อนรับ และการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงการยอมรับการชี้นำจาก นายทักษิณ ชินวัตร 

อ้าง“ทักษิณ”ชี้นำพรรค

รวมทั้งการนำวิดีโอที่ นายทักษิณ ชี้นำแนวทางไม่ให้พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองแนวอนุรักษนิยมใหม่ และชี้นำการปฏิบัติตนของสมาชิกพรรคเพื่อไทย มาเปิดในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 ภายใต้การรู้เห็นของกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย 

จึงแสดงว่า พรรคเพื่อไทยยินยอมให้บุคคลอื่น ซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นชี้นำกิจกรรมของพรรคเพื่อไทย ในลักษณะที่ทำให้สมาชิก และกรรมการบริหารพรรค ขาดความอิสระ และ นายทักษิณ มีการกระทำที่เป็นการชี้นำพรรคเพื่อไทย และสมาชิก อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 28 และ มาตรา 29 อันทำให้การใช้เสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง 

ผู้ร้องระบุด้วยว่า การที่พรรคเพื่อไทย ฝ่าฝืน มาตรา 28 จะเป็นเหตุให้ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) และ การที่ นายทักษิณ ฝ่าฝืนมาตรา 29 จะมีโทษตามมาตรา 108 แห่ง พ.ร.ป.เดียวกัน 

“เป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้ทันทีโดยไม่ต้องสอบสวน เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องพิจารณาที่ 10/2567 กรณี กกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล” คำร้องของบุคคลนิรนามดังกล่าวระบุ

                              เปิดศึกนิติสงครามจ้องโค่น“รัฐบาลอิ๊งค์-เพื่อไทย”

การยื่นคำร้องของ “เรืองไกร” และ “บุคคลนิรนาม” ต่อ กกต.ให้ตรวจสอบเอาผิดกับ นายกฯ แพทองธาร และ ยุบพรรคเพื่อไทย ครั้งนี้ หากจะเรียกว่าเป็น “นิติสงคราม” หรือ “Lawfare” คือ การใช้กฎหมายเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม ก็น่าจะเรียกได้

เพราะ นายเรืองไกร เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (สายลุงป้อม) ที่พรรคพลังประชารัฐ เพิ่งถูก พรรคเพื่อไทย ถีบตกขบวน ไม่ดึงเข้าร่วมรัฐบาลต่อไป (เอาแต่กลุ่ม สส.สาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า) จึงยากที่จะปฏิเสธว่า การยื่น “สอย” นายกฯ แพทองธาร ครั้งนี้ ไม่ใช่ปฏิบัติการล้างแค้น เอาคืน   

ส่วน “บุคคลนิรนาม” ที่เข้ายื่นคำร้องต่อ กกต. ก็มองเป็นอื่นไม่ได้ เป็นฝ่ายที่เสียประโยชน์จากการที่ “พรรคเพื่อไทย” ได้ขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือ เป็นฝ่ายตรงข้ามกันนั่นเอง

นายกฯ แพทองธาร และ พรรคเพื่อไทย จะรอดพ้นจาก “นิติสงคราม” ของศัตรูฝ่ายตรงข้ามไปได้หรือไม่ มารอลุ้นกันไปยาวๆ...

                                      ++++

คำร้องไม่ระบุชื่อตัวตนเสมือนบัตรสนเท่ห์ 

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2567 ถึงกรณีมีผู้ร้องนิรนามยื่นให้ตรวจสอบยุบพรรคเพื่อไทย (พท.) ว่า หากมีผู้มายื่นคำร้องต้องเข้าสู่กระบวนการตามระเบียบสืบสวนและไต่สวน ว่าเป็นคำร้องที่สมควรรับไว้หรือไม่ 

หากเห็นว่าคำร้องควรรับไว้ จะมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน เพื่อสอบปากคำพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานแวดล้อมและผู้ที่เกี่ยวข้อง หากได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอความเห็นของสำนวนไปยังสำนักงาน กกต. โดยมีเลขาธิการ กกต. เป็นผู้ให้ความเห็นว่า มีความเห็นเป็นอย่างไรบ้าง เป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลา ไม่สามารถที่จะเข้าไปแทรกแซงการทำงานของแต่ละฝ่ายได้

ส่วนที่การยื่นคำร้องโดยปกปิดไม่ได้ระบุชื่อของผู้ร้องนั้น นายอิทธิพร กล่าวว่า โดยหลักการแล้วคำร้องที่จะรับไว้พิจารณาจะต้องเป็นคำร้องที่แสดงให้เห็นตัวตนของผู้ร้อง ถ้าเป็นคำร้องที่ไม่ได้ระบุชื่อ เบื้องต้นจะถือว่าเป็นบัตรสนเท่ห์ก่อน  

“แต่หากคำร้องนั้นมีเนื้อหา แม้ว่าเราจะไม่รับคำร้อง เพราะไม่มีชื่อผู้ร้อง แต่สามารถรับไว้พิจารณาหากมีเหตุอันควรสงสัย หรือ ความปรากฏก็ได้ ซึ่งเป็นกระบวนการพิจารณาที่มีมติการคิดหลายแบบ”

เมื่อถามว่าตามหลักการถ้ายื่นคำร้องที่ไม่ได้ระบุชื่อ ลักษณะเป็นบัตรสนเท่ห์ จะถือว่ามีน้ำหนักน้อยกว่าคำร้องที่ระบุชื่อผู้ร้องหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า คำร้องต้องพิจารณาว่ายื่นภายในกำหนดระยะเวลาหรือไม่ เพราะบางเรื่องต้องยื่นในกรอบระยะเวลา และบางเรื่องอาจไม่ต้องยื่นในกรอบระยะเวลา ซึ่งการรับหรือไม่รับคำร้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย เพราะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

“ถ้าไม่มีตัวตนแต่เอกสารคำร้องมีเนื้อหาเพียงพอ ที่จะดำเนินการต่อได้ ทิ้งไม่ได้ ต้องรับไว้ดำเนินการต่อไป” ประธาน กกต.ระบุ