*** คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,023 ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ย. 2567 “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย
*** เรียบร้อย “โรงเรียนเพื่อไทย” ในที่สุดคณะกรรมการบริหารและ สส.ของพรรคเพื่อไทย ก็มีมติไม่เอา สส.พรรคพลังประชารัฐ กลุ่ม ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าร่วม “รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร” แต่ให้เชิญกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เข้าร่วมรัฐบาล พร้อมกับส่งเทียบเชิญ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ให้เข้าร่วมรัฐบาล เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับรัฐบาล
*** เหตุผลที่พรรคเพื่อไทย ไม่เอา “กลุ่มลุงป้อม” เข้าร่วมรัฐบาล คือ สส.หลายคนไม่สบายใจที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่แสดงความจริงใจในการเข้าร่วมรัฐบาล โดยไม่ร่วมโหวตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย ทั้ง 2 ครั้ง คือ ทั้ง เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และล่าสุด นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงแม้ สส.ในพรรคพลังประชารัฐ จะให้ความร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย ร่วมกันทำงานทั้งในฝั่งของนิติบัญญัติและฝั่งของบริหารเป็นอย่างดีมาโดยตลอดก็ตาม รวมถึงยังมีกระแสข่าวที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีการทำงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง
*** หลังพรรคเพื่อไทย มีมติเชิญ ปชป. เข้าร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2567 วันรุ่งขึ้น พรรคเพื่อไทย ก็ส่ง สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค ไปเชิญพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นทางการ ให้เข้าร่วมรัฐบาล และ พรรค ปชป. ก็ได้นำเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค และ สส. ในวันที่ 29 ส.ค. เพื่อมีมติร่วมรัฐบาล
*** สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยหลังเชิญพรรค ปชป.เข้าร่วมรัฐบาลว่า “สิ่งที่เห็นตรงกันคือ ประเทศถอยหลังไปหลายปี ถึงเวลาที่ต้องเดินหน้าร่วมกัน ส่วนความไม่เข้าใจ หรือ ขัดแย้งขอให้ทิ้งไว้ข้างหลัง เรื่องเมื่อก่อนก็คือเมื่อก่อน แต่ปัจจุบันมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทำงานเพื่อประเทศและประชาชน”
เช่นเดียวกับ เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายมองว่าพรรคประชาธิปัตย์มีอุมการณ์ไม่เหมือนพรรคเพื่อไทย ว่า “เป็นเหตุการณ์เมื่อ 20-30 ปีก่อน แต่ปัจจุบันการเดินหน้าไปด้วยกันได้ ถือเป็นสิ่งดีงาม”
*** ภายหลังพรรคเพื่อไทย ดึงสส.พรรคพลังประชารัฐ กลุ่ม ร.อ.ธรรม อย่างน้อย 20 เสียง + สส.พรรคเล็กอีก 5 เสียง เข้าร่วมรัฐบาล และ พรรคประชาธิปัตย์ 21 เสียง (25-4 เสียง) ทำให้เสถียรภาพรัฐบาล “ปึ๊ก” ขึ้นกว่าเดิมจากเดิม 314 เสียง พุ่งขึ้นเป็นประมาณ 325 เสียง
*** โดยโควต้ารัฐมนตรี กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ที่ได้รับและเสนอชื่อนั่งเก้าอี้ รมต. ประกอบด้วย นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หัวหน้าพรรคกล้า จะได้นั่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์ อัครา พรหมเผ่า น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส นั่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ อิทธิ ศิริลัทธยากร นั่งรมช.เกษตรและสหกรณ์
ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค จะเข้านั่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ “นายกชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค จะเสียบ รมช.สาธารณสุข ซึ่งเป็นโควต้าเดิมของพรรคพลังประชารัฐ ในกลุ่มลุงป้อม
*** ส่วน โผ ครม. ในตำแหน่งอื่นๆ ที่ถูกวางตัวไว้นั้น มีที่น่าสนใจคือ ภูมิธรรม เวชยชัย จากรมว.พาณิชย์ จะถูกสลับไปนั่งเป็นรองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ดูแลด้านความมั่นคงทั้งหมด, พิชัย ชุณหวชิร รมว.คลัง, พิชัย นริพทะพันธุ์ เป็น รมว.พาณิชย์, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และรมว.คมนาคม , ประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเศรษฐกิจเพื่อเศรษฐกิจและสังคม( ที่เดิม)
สรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา, สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข , สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม , จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ, ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ , นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เป็น รมว.ต่างประเทศ เหมือนเดิม และ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย เป็น รมช.มหาดไทย
*** พรรคภูมิใจไทย อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกฯ รมว.มหาดไทย, พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน , พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ , ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษาฯ
พรรครวมไทยสร้างชาติ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรองนายกฯ และ รมว.พลังงาน, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม, สุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ และมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ติดโผได้เข้ามานั่งเป็น รมช.กลาโหม อีก 1 ตำแหน่ง
พรรคชาติไทยพัฒนา วราวุธ ศิลปอาชา เป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ
และ พรรคประชาชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นรมว.ยุติธรรม
*** ไปปิดท้ายกันที่ ...ผลกระทบอันเกิดจากสถานการณ์ “น้ำท่วมใหญ่” ทางภาคเหนือ และภาคใต้ กรมทางหลวงได้สรุปสถานการณ์อุทกภัยและดินสไลด์บนทางหลวง ณ วันที่ 28 ส.ค. พบมีถนนทางหลวงถูกน้ำท่วม ประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดสุโขทัย และ จังหวัดพังงา (4 สายทาง จำนวน 10 แห่ง) การจราจรผ่านไม่ได้ 9 แห่ง ดังนี้
เชียงราย 6 แห่ง 1. ทางหลวงหมายเลข 1093 ขุนห้วยไคร้ – ผาตั้ง ช่วง กม.ที่ 46+430 – 46+460 ในพื้นที่อำเภอเวียงแก่น 2. ทางหลวงหมายเลข 1093 ขุนห้วยไคร้ – ผาตั้ง ช่วง กม.ที่ 49+100 – 49+150 ในพื้นที่อำเภอเวียงแก่น 3. ทางหลวงหมายเลข 1093 ขุนห้วยไคร้ – ผาตั้ง ช่วง กม.ที่ 56+040 – 56+230 ในพื้นที่อำเภอเวียงแก่น 4. ทางหลวงหมายเลข 1093 ขุนห้วยไคร้ – ผาตั้ง ช่วง กม.ที่ 80+265 – 80+400 ในพื้นที่อำเภอเวียงแก่น 5. ทางหลวงหมายเลข 1093 ขุนห้วยไคร้ – ผาตั้ง ช่วง กม.ที่ 80+185 ในพื้นที่อำเภอเวียงแก่น 6. ทางหลวงหมายเลข 1155 ทรายกาด – บ้านลุง ช่วง กม.ที่ 27+400 – 27+500 ในพื้นที่อำเภอเทิง
จังหวัดสุโขทัย 3 แห่ง 1. ทางหลวงหมายเลข 1195 เตว็ดใน – วังไม้ขอน ช่วง กม.ที่ 12+725 – 13+550 ในพื้นที่อำเภอศรีสำโรง 2. ทางหลวงหมายเลข 1195 เตว็ดใน – วังไม้ขอน ช่วง กม.ที่ 23+400 – 24+100 ในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก ระดับน้ำสูง 25 ซม. 3. ทางหลวงหมายเลข 1195 เตว็ดใน – วังไม้ขอน ช่วง กม.ที่ 25+800 – 27+700 ในพื้นที่อำเภอสวรรคโลก ระดับน้ำสูง 35 ซม.
*** ภายหลังสถานการณ์น้ำลดลง ก็หวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งรัดซ่อมแซม ปรับปรุงถนน ให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนต่อไป...