ในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง เมื่อฤดูกาลผันผ่าน ย่อมมีการหมุนเวียนของผู้นำในทุกองค์กร ไม่เว้นแม้แต่ในกองทัพ ซึ่งเป็นเสาหลักแห่งความมั่นคงของชาติ
หลังจากเว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2567 เรื่องให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ จำนวน 808 นาย ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2567 เป็นต้นไป โดยมี แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
โดยในจำนวนนี้มี 2 ตำแหน่งสำคัญ คือ กองทัพบก พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ (ตท.26) จากตำหน่ง เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ (ผบ.ทบ.)
และ กองทัพเรือ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ (ตท.23) จากตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) คนใหม่
ฐานเศรษฐกิจ จะพาไปเปิดประวัติคร่าวๆเพื่อทำความรู้จักกับ ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารเรือ คนใหม่ ผู้ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการนำกองทัพสู่อนาคต
ด้วยประสบการณ์อันหลากหลายและความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติการทางทหาร พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่
เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 26 และมีกำหนดเกษียณอายุราชการในปี 2570
ตลอดเส้นทางการรับราชการ พลเอก พนา ได้สั่งสมประสบการณ์จากการดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย
อาทิ ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (เป็นหน่วยทหารราบส่งทางอากาศและหน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วของกองทัพบกหรือเรียกชื่อย่อว่า หน่วย RDF : Rapid Deployment Force)
ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 หรือที่รู้จักกันในนาม "กองพลสไตร์เกอร์" ต่อด้วยแม่ทัพภาคที่ 1 และเสนาธิการทหารบกคำตำแหน่งล่าสุดก่อนขึ้นมาเป็นผบ.ทบ.
ในขณะเดียวกัน กองทัพเรือก็ได้ต้อนรับผู้นำคนใหม่ พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ผู้มีประวัติการศึกษาและการทำงานที่โดดเด่น
สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 23 และได้รับการศึกษาเพิ่มเติมจากโรงเรียนนายเรือเยอรมัน เมอร์วิค ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นการเปิดโลกทัศน์และเสริมสร้างวิสัยทัศน์ในการพัฒนากองทัพเรือ
ตลอดเส้นทางการรับราชการ พลเรือเอก จิรพล ได้ผ่านการดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย
ตั้งแต่ผู้บังคับการเรือหลวงประแสและเรือหลวงสุโขทัย ไปจนถึงผู้บัญชาการกองเรือยามฝั่ง กองเรือยุทธการ และที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ
ซึ่งทั้ง ผบ.ทบ. และ ผบ.ทร. คนใหม่ จะเริ่มทำงานวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งต้องจับตาว่า
หลังการเปลี่ยนแปลงผู้นำในครั้งนี้ จะพัฒนากองทัพเรือและกองทัพบก รวมทั้งกองทัพไทยไปในทิศทางใด กับภารกิจความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในการปกป้องและพัฒนาประเทศ และการรับมือกับความท้าทายในอนาคต