ตั้งทหารสายเหยี่ยว คุมทัพภาค 4 ดับไฟใต้

23 ก.ย. 2567 | 12:36 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2567 | 13:02 น.

การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร 808 นาย ไม่ได้จำกัดวงแคบอยู่แค่ 5 เสือ ทบ.ผู้นำทางทหารที่ทรงอิทธิฤทธิ์เท่านั้น หากแต่ขยายวงไปยังแม่ทัพ 5 เหล่าทัพ ที่รอบนี้เปลี่ยนตัวสายนักรบแบบยกแผง โดยเฉพาะกองทัพภาคที่ 4 เพื่อดับไฟใต้

KEY

POINTS

 

  • การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร 808 นาย ไม่ได้จำกัดวงแคบอยู่แค่ 5 เสือ ทบ.ผู้นำทางทหารที่ทรงอิทธิฤทธิ์เท่านั้น  
  • หากแต่ขยายวงไปยังแม่ทัพ 5 เหล่าทัพ ที่รอบนี้เปลี่ยนตัวสายนักรบแบบยกแผง
  • ในกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ มีการปรับย้ายตำแหน่ง ขุมกำลังทางทหารแบบยกแผง 

สปอร์ตไลต์การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร 808 นาย ตามราชกิจจานุเบกษาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “ให้นายทหารรับราชการ” โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2567  ไม่ได้จำกัดวงแคบอยู่แค่ 5 เสือ ทบ.ผู้นำทางทหารที่ทรงอิทธิฤทธิ์เท่านั้น 

หากแต่ขยายวงไปยังแม่ทัพ 5 เหล่าทัพ ที่รอบนี้เปลี่ยนตัวสายนักรบแบบยกแผง

“5 เสือ กองทัพบก” จบลงที่ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ เสนาธิการทหารบก ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการทหารบก 

พล.อ.ณัฐวุฒิ นาคะนคร นายทหารรบพิเศษจากที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ขึ้นเป็น รองผู้บัญชาการทหารบก

พล.อ.วสุ เจียมสุข รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายในกองทัพบก ขึ้นเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
 พล.ท.ชิษณุพงษ์ รอดศิริ แม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นเป็น ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก 

พล.ท.ธงชัย รอดย้อย รองเสนาธิการทหารบก ขึ้นเป็น เสนาธิการทหารบก คุมยุทธการ และ กอ.รมน.ฯลฯ

5 เสือ ทบ. คือ กลุ่มผู้นำทางทหารที่คุมงบประมาณ 35,759 ล้านบาท จากงบประมาณทั้งสินของกระทรวงกลาโหม 91,451 ล้านบาท
ขณะที่ 5 แม่ทัพที่คุมกำลังทั่วประเทศ มีการปรับเปลี่ยนใหม่ แบบยกแผง

พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ขึ้นเป็น หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา อัตรา พล.อ.

พล.ท.อมฤต บุญสุยา แม่ทัพน้อยที่ 1 ขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 1

พล.ท.บุญสิน พาดกลาง แม่ทัพน้อยที่ 2 เป็น แม่ทัพภาคที่ 2 แทนที่ แม่ทัพดุลย์-พล.ท.อดุลย์ บุญธรรมเจริญ นายทหารยอดนักรบแห่งอีสาน นายทหารที่ไปรบทั่วถิ่นไทยแม้แต่ภาคใต้ 

พล.ท.กิตติพงษ์ แจ่มสุวรรณ แม่ทัพน้อยที่ 3 อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการช่วยรบที่ 3 อดีต ผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 ขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 3 แทนที่ บิ๊กเข้-พล.ท.ประสาน แสงศิริรักษ์

พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็น แม่ทัพภาคที่ 4
พล.ต.ณรงค์ฤทธิ์ คัมภีระ รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ทหารรบพิเศษที่เป็นดาวรุ่ง ขึ้นเป็น ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (นสศ.) แทนที่ พล.ท.วัฒนา ฉัตรรัตนแสง 

อันว่า นสศ.เปรียบเสมือน แม่ทัพภาคที่ 5 ของกองทัพ ถือเป็น หน่วยรบพิเศษ หน่วยปฏิบัติการพิเศษ เน้นการยุทธ์พื้นที่ระยะประชิด,การต่อต้านการก่อการร้าย การปฏิบัติภารกิจโดยตรง การชิงตัวประกัน การตีโฉบฉวย การปฏิบัติการพิเศษ การปฏิบัติการปกปิด การเเทรกเเซงก่อการร้าย การรบยุทธ์วิธีการปลอมตัวเพื่อชิงตัวประกันอัน

พล.ต.ไพบูลย์ พุ่มพิเชฎฐ์ รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก เป็น ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก (นปอ.) แทนที่ พล.ท.วีระพงษ์ ศรีรัตน์ ผบ.นปอ.

นปอ.นั้นถือว่าเป็นกองบัญชาการสำคัญ อยู่ที่ถนนเดชะตุงคะ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ เดิมเรียกว่า “กรม ปตอ.” มีระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ทันสมัย สามารถปฏิบัติการร่วมระหว่าง 3 เหล่าทัพ ในด้านการป้องกันภัยทางอากาศ ทั้งในยามปกติ และในยามสงคราม

นี่คือ แผงอำนาจของผู้นำเหล่าทัพสายเหยี่ยว เพื่อสนับสนุน "รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร" กับการบริหารประเทศ และการจัดการทางการเมืองที่ยาวนานไปถึง 3 ปี ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ไม่แน่นอน

แต่ที่เปลี่ยนแปลงขุมกำลังหลัก ทั้งตัวคนและยุทธการอยู่ในกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ แก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอรอยต่อของ จ.สงขลา มีการปรับย้ายตำแหน่ง ขุมกำลังทางทหารแบบยกแผง เพื่อจัดการไฟใต้

คนแรก เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 “บิ๊กศาล-พล.ต.ไพศาล หนูสังข์” นายทหารนักรบ อดีตผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 46 จ.นราธิวาส อดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 5 จ.สงขลา และสตูล, อดีตผู้อำนวยการสำนักอำนวยการข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า อดีตรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า  และรองแม่ทัพภาคที่ 4 ขยับขึ้นจาก รองแม่ทัพภาคที่ 4 ขึ้นเป็น แม่ทัพภาคที่ 4

คนที่สอง เสธ.แมกซ์-พล.ต.คมกฤช รัตนฉายา รองแม่ทัพน้อยที่ 4 อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 46, ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี และอดีตผู้บังคับกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้  ทายาทนายทหารใหญ่ “บิ๊กฉิ่ง-พล.อ.กิตติ รัตนฉายา” ขึ้นจากรองแม่ทัพน้อย ที่ 4 เป็น แม่ทัพน้อยที่ 4

คนที่สาม  พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ (ตท.25) อดีตรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า โฆษกกองทัพภาคที่ 4 และ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 อย่างยาวนานผ่านแม่ทัพภาค 4 ถึง 6 คน นานร่วม 9 ปี ขยับจากแม่ทัพน้อยที่ 4 ขึ้นเป็น รองผู้อำนวยการสำนักงานปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายในกองทัพบก 

คนที่สี่ พล.ท.ธัชพล บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 สำนักงานปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายในกองทัพบก กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ศปป.5 กอ.รมน. ซึ่งรับผิดชอบการประสานงานแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะ ขยับขึ้นเป็น ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก อัตราพลเอก

คนที่ห้า พล.ต.สุรเทพ หนูแก้ว ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 44 อดีต รองเลขาธิการ กอ.รมน.ภาค 4 ขึ้นเป็น ผอ.ศปป.5 คนใหม่ รับหน้าที่ประสานงานแก้ปัญหา3 จังหวัดชายแดนใต้ 

การปรับทัพกองทัพภาคที่ 4 รอบนี้ “นายทหารนักรบสายเหยี่ยว-สายยุทธการ” รุ่นใหม่ ขึ้นแบบยกแผง

กล่าวเฉพาะ แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ เขาเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 25 (ตท.25) นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 36 (จปร.36) เส้นทางชีวิตราชการ เติบโตในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 เชี่ยวชาญงานยุทธการ และคุมหน่วยสำคัญในพื้นที่มาแทบทุกหน่วย

พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ เกิดวันที่ 4 พ.ย. 2508 เป็นคน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  จบมัธยมศึกษาตอนปลายโรงเรียนวชิรานุกูล จ.สงขลา ปริญญาโท มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น สาขารัฐประศาสนศาสตร์ 

เป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 25 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 76 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 64

เข้ารับราชการอยู่ในสายคุมกำลังตลอด เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 15 จ.นครศรีธรรมราช เป็นผู้บังคับการกรมทหารพรานที่ 46 จ.นราธิวาส เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 5 จ.สงขลา และสตูล

ขึ้นเป็น รองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ อ.เทพา จ.สงขลา ก้าวขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 รับผิดชอบ 14 จังหวัดภาคใต้ และเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 จ.นครศรีธรรมราช

โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2547  พล.ต.ไพศาล ควบคุมสายบู๊หลายหน่วนงาน ตั้งแต่หัวหน้าฝ่ายยุทธการ หน่วยเฉพาะกิจที่ 1 จ.ยะลา 2. รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 จ.ปัตตานี เป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 46 จ.นราธิวาส เป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 5 จ.สงขลา สตูล ยะลา และนราธิวาส

เป็น ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ อ.จะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย จ.สงขลา ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (1) จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ อ.จะนะ นาทวี เทพา สะบ้าย้อย จ.สงขลา ผู้ 

นี่คือขุมกำลังหลักในด้านความมั่นคงที่ดูแล การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีงบบูรณาการเข้ามาสอดเพื่อดับไฟใต้ที่คุกรุ่นมาอย่างยาวนานเฉลี่ยปีละ 2.5-3.1 หมื่นล้านบาท!!!