สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านความมั่นคงของประเทศไทย โดยมีหน้าที่หลักในการรับมือ ป้องกัน และตอบสนองต่อภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ
มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 8 ตุลาคม 2567 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร เห็นชอบแต่งตั้ง นายฉัตรชัย บางชวด ผู้ที่ถือได้ว่าเป็น "ลูกหม้อ" คนสำคัญของ สมช. ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สมช. คนที่ 25 ตามที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้เสนอ
นายฉัตรชัย รับราชการที่สภาความมั่นคงแห่งชาติมาอย่างยาวนาน และยังมีบทบาทสำคัญในการจัดทำนโยบายด้านความมั่นคง และเคยดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเป็นผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงของ สมช.
กระทั่งในรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายฉัตรชัยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายฉัตรชัย บางชวด จบการศึกษา ระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์บัณฑิต (เศรษฐศาสตร์เกษตร) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโท พัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาการเศรษฐกิจ) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
ประสบการณ์การทำงานที่ สมช. เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความมั่นคงภายในประเทศ จากนั้นได้ขึ้นเป็นระดับผู้อำนวยเรื่อยมา ตั้งแต่ผู้อำนวยการสำนักประเมินภัยคุกคามผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนความมั่นคง ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้และชนต่างวัฒนธรรมผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงภายในประเทศ
จนกระทั่งได้ขึ้นเป็นผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตามลำดับ
นับได้ว่านายฉัตรชัย เติบโตตามเส้นทางการรับราชการในตึกแดงสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงและข่าวกรองของไทยที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีของประเทศไทยใช้ในการประสานงานด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ
ที่ผ่านมามีเลขาธิการสมช. ในการขับเคลื่อนองค์กรมาแล้วถึง 24 คน ประกอบด้วย
1.พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ 2.พันเอก พระยาศรีวิสารวาจา 3.พลเอกจิร วิชิตสงคราม 4.พลเอกเล็ก แนวมาลี 5.พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา 6.นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ
7.นายสุวิทย์ สุทธานุกูล 8.พลเอกจรัล กุลละวณิชย์ 9.พลเอกบุญศักดิ์ กำแหงฤทธิรงค์ 10.นายขจัดภัย บุรุษพัฒน์ 11.พลเอก วินัย ภัททิยกุล 12.นายประกิจ ประจนปัจจนึก
13.พลโทศิรพงศ์ บุญพัฒน์ 14.พลโทสุรพล เผื่อนอัยกา 15. นายถวิล เปลี่ยนศรี 16.พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี 17.พลโทภราดร พัฒนถาบุตร 18.นายอนุสิษฐ คุณากร
19.พลเอกทวีป เนตรนิยม 20.พลเอกวัลลภ รักเสนาะ 21.พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา 22.พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ 23.พลเอก สุพจน์ มาลานิยม 24.พลตำรวจเอกรอย อิงคไพโรจน์ ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 19 มีนาคม -30 กันยายน พ.ศ. 2567
ต้องยอมรับว่าในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมา คนในสมช.กลับไม่มีโอกาสเติบโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กรได้ตามเส้นทางราชการ เพราะกลายเป็นหน่วยงานที่รัฐบาลมักใช้เป็นพื้นที่รองรับตำแหน่งงานข้าราชการทหารและตำรวจระดับสูงที่ไม่รู้จะแต่งตั้งหรือโยกย้ายไปไหน
อาทิ ยุคหลังจาก นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่เป็นหนึ่งในลูกหม้อของสมช. หลังจากนั้นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็โยก พลตำรวจเอก วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาเป็นเลขาฯสมช. ก่อนที่จะโยกไปเป็นปลัดกระทรวงคมนาคม
และหลังจากนั้นในรอบ 10 ปี สมช.กลายเป็นพื้นที่รองรับตำแหน่งของผู้ที่ผิดหวังตำแหน่งในกองทัพเกือบ 100% อาทิ พลเอกทวีป เนตรนิยม พลเอกวัลลภ รักเสนาะ พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ พลเอก สุพจน์ มาลานิยม และล่าสุด พลตำรวจเอกรอย อิงคไพโรจน์ ที่ผิดหวังจากตำแหน่ง ผบ.ตร.
พลโท ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาสมช. คนที่ 17 และปัจจุบันเลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย ถือว่าเป็นคนในของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจถึงลูกน้องเก่า “ฉัตรชัย บางชวด” ที่เป็นลูกหม้อสมช.ได้ขึ้นมาเป็นเลขาธิการว่า ฉัตรชัยเป็นเลขาสมช. ที่ไต่เต้าด้วยผลงาน เป็นคนที่อยู่ในกระบวนการการทำงานของสมช.ที่เข้าใจงานสมช.
พลโทภราดร แนะนำว่า นายฉัตรชัย ต้องแสดงภาวะผู้นำให้เต็มที่เพราะภายใต้บริบทความมั่นคงในปัจจุบันที่ภายในประเทศก็อาการหนัก ภายนอกก็หนัก รวมทั้งมีคดีตากใบที่กำลังจะหมดอายุความ สมช.ต้องเป็นหน่วยอำนวยการในเรื่องนี้
“ฉัตรชัยเป็นคนที่ขยันขันแข็ง เคยทำงานกองเดียวของท่านถวิล เปลี่ยนศรี เติบโตไล่ขึ้นมาเรื่อยจนเป็นผอ.สำนักชายแดนภาคใต้ ในความรู้ความสามารถผมคิดว่าฉัตรชัยเขามีครบ แต่สิ่งที่ต้องทำคือต้องพิสูจน์ฝีไม้ลายมือให้ได้ เพราะขึ้นมาเป็นเลขาแล้วต้องทำงานบูรณาการกับอีกหลายหน่วยงานให้เป็นเนื้อเดียวกันให้ได้ ผมคิดว่าฉัตรชัยมีดีพอ”